top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

พัฒนาการของลูกน้อยใน สัปดาห์ที่ 1 ต้องดูแลลูกน้อยอย่างไรในสัปดาห์แรก (1-Week-Old Baby’s Development)

สัปดาห์แรกหลังคลอด เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตของคุณพ่อ คุณแม่ หลายๆ อย่างในชีวิตอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เป็น 1 สัปดาห์ที่คุณพ่อ คุณแม่ต้องเรียนรู้อย่างหนัก ในการดูแลลูกน้อยที่บ้าน หมอหน่อยเองผ่านประสบการณ์นี้มาแล้ว จึงอยากเขียนบทความเพื่อเป็นแนวทางให้คุณพ่อ คุณแม่ ในการดูแลลูกน้อยในช่วงสัปดาห์แรก เพื่อให้เส้นทางการดูแลลูกน้อยของทุกคนง่ายขึ้นค่ะ


สิ่งสำคัญในสัปดาห์นี้

  • หลังคลอด นอกจากคุณแม่ต้องดูแลลูกน้อยแล้ว ควรต้องดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดี (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง เทคนิคการดูแลตัวเองหลังคลอด)

  • ไปทีละขั้น แม่ๆ ไม่จำเป็นต้องรู้ทุกอย่างในสัปดาห์แรกหลังคลอด ค่อยๆ เรียนรู้ไปทีละขั้น

  • อย่ากดดันตัวเอง ให้มีความสุขกับการดูแลลูกน้อย

การเติบโตของลูกในสัปดาห์แรก


ในช่วง 3-4 วันแรกหลังคลอด ลูกน้อยอาจมีน้ำหนักตัวที่ลดลง ซึ่งสามารถลดได้ถึง 10% และน้ำหนักตัวจะเริ่มเพิ่มขึ้น และกลับมาเท่าๆ ตอนคลอดประมาณวันที่ 10-14 หลังคลอด และน้ำหนักจะเริ่มเพิ่มขึ้น 20-30 กรัมต่อวัน คุณหมอจะนัดติดตามน้ำหนัก และเช็คค่าตัวเหลือง หลังลูกน้อยออกจากโรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน


พัฒนาการในช่วงสัปดาห์ที่ 1


ในสัปดาห์แรกนี้ พัฒนาการที่สำคัญของลูกคือ การเอาตัวรอดหลังออกมาเจอโลกกว้าง ทั้งทักษะการดูด การย่อยอาหาร การสร้างภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ ลูกจะมีการรับสัมผัสที่ง่ายมาก การทำ Skin to skin หรือการสัมผัส จะช่วยกระตุ้นพัมนาการของลูกได้เป็นอย่างดี


ลูกควรจะมีการขยับ แขนขาทั้งสองข้างพอๆ กัน หากมีข้างใดข้างหนึ่งไม่ขยับ อาจต้องระวังเรื่องการอ่อนแรง ลูกสามารถยกคอได้เล็กน้อย แต่ต้องระวังว่ากล้ามเนื้อคอของลูกยังไม่แข็งแรงและต้องการการประคองอยู่ตลอด


ลูกจะเริ่มมองเห็นภาพลางๆ ในระยะ 12-15 นิ้ว หรือประมาณระยะการให้นมลูก ทำให้การมองหน้าลูกเป็นการกระตุ้นการมองเห็นของลูกได้เป็นอย่างดี ลูกจะเห็นสีที่ตัดกันมากๆ หรือ high-contrast patterns เช่น สีขาว-ดำ และจะตอบสนองต่อเสียงดังได้ง่าย


การดูแลลูกในช่วงสัปดาห์แรก

  1. การดูแลสายสะดือ หลังคลอดลูกจะยังมีสายสะดือติดออกมา โดยแนะนำให้ทำความสะอาดสายสะดือวันละ 1 ครั้ง โดยสามารถใช้น้ำสะอาด หรือ แอลกอฮอร์เช็ดบริเวณโคนของสะดือ โดยสายสะดือจะหลุดออกเองประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังคลอด

  2. การทำความสะอาดร่างกาย ในช่วงที่สายสะดือยังไม่หลุด แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่เช็ดตัวให้ลูกน้อยวันละ 1-2 ครั้ง แทนการอาบน้ำ เพื่อให้สายสะดือแห้งและหลุดออกได้ง่ายขึ้น และสามารถอาบน้ำได้หลังจากสายสะดือหลุดแล้ว

  3. การขับถ่าย ในช่วงสัปดาห์แรก ลูกจะถ่ายออกมาเป็นสีเทาหรือสีดำ ที่เราเรียกว่า Meconium ซึ่งเกิดจากการกลืนน้ำคร่ำและของเสียตอนที่อยู่ในท้อง หลังคลอดตั้งแต่วันที่ 4-5 ลูกน้อยจะขับถ่ายหลายครั้ง ซึ่งอาจต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมวันละมากกว่า 6-7 ครั้ง โดยสีของอุจจาระจะแตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ที่เหลืองทอง ไปจนถึงสีเขียว โดยการสังเกตว่าลูกได้รับน้ำนมเพียงพอหรือไม่ สามารถดูจากจำนวนปัสสาวะที่มากกว่า 6 ครั้งต่อวัน หรืออุจจาระ 2-3 ครั้งต่อวัน

  4. การกิน ในช่วงหลังคลอดลูกน้อยอาจจะไม่ค่อยสนใจในการกินมากนัก และจะนอนเป็นหลัก หลังจากนั้นจะเริ่มมีความต้องการในการกินมากขึ้น โดยการให้นมนั้น ขึ้นกับปัจจัยของแม่และครอบครัว ซึ่งอาจเป็นการให้นมแม่จากเต้า หรือ การให้นมแม่จากการปั๊มนม หรือให้นมผง โดยในสัปดาห์นี้ลูกจะดื่มนมทุก 2-3 ชั่วโมง หรือ 8-12 ครั้งต่อวัน

  5. การนอน ในช่วงสัปดาห์แรก จะเป็นช่วงที่ลูกปรับตัวหลังคลอด การนอนจะยังไม่ค่อยมีรูปแบบ โดยลูกน้อยจะนอนประมาณ 16-18 ชั่วโมงต่อวัน สามารถปล่อยให้ลูกนอนได้ตลอดตามที่เค้าต้องการได้เลยค่ะ

  6. การไปพบแพทย์ โดยส่วนใหญ่แพทย์จะนัดติดตามน้ำหนัก ติดตามเรื่องตัวเหลืองและอาการอื่นๆ ของทารกในช่วงอายุ 3-5 วัน

  7. วัคซีน ในช่วงแรกเกิดลูกน้อยจะได้รับวัคซีน BCG ป้องกันวัณโรค เป็นลักษณะของการปลูกฝีที่ต้นแขนซ้าย และได้รับวันซีน Hepatitis B ป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เข็มที่ 1 และจะมีนัดรับวัคซีนอีกครั้งในช่วง 2 เดือน

เมื่อไหร่ควรต้องกังวลและปรึกษาแพทย์


ในช่วงสัปดาห์แรก ปัญหาที่ควรกังวลคือเรื่องตัวเหลือง และการขาดน้ำจากการทานนมไม่เพียงพอ หรืออาการเจ็บป่วยหรือติดเชื้อช่วงหลังคลอด ดังนั้นหากลูกน้อยมีอาการที่ผิดปกติ เช่น ตัวตาเหลือง มีไข้ ชักเกร็ง ดูซึมไม่ตื่น ไม่ดื่มนม ไม่ปัสสาวะ ไม่อุจจาระ ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อปรึกษาเพิ่มเติม


ในช่วงสัปดาห์แรก เป็นช่วงที่ลูกกำลังปรับตัวเข้ากับโลกใหม่ เช่นเดียวกันกับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องปรับตัวเข้าหาลูกเช่นกัน ยังไงหมอหน่อยขอเป็นกำลังใจให้กับคุณพ่อ คุณแม่มือใหม่ทุกท่านนะคะ



เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai. MD )


#พัฒนาการของลูกสัปดาห์แรก #การดูแลลูกหลังคลอด #การเลี้ยงลูกน้อยสัปดาห์แรก





ดู 1,139 ครั้ง0 ความคิดเห็น

コメント


bottom of page