สัปดาห์ที่ 15 แล้วนะคะ อีก 25 สัปดาห์เท่านั้น ก็จะได้เจอตัวเล็กแล้วค่ะ ตอนนี้หน้าท้องของคุณแม่ขยายมากขึ้น อาจเห็นได้ชัด แม่ว่าลูกจะตัวเล็กนิดเดียวก็ตาม สัปดาห์นี้มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไปติดตามกันค่ะ
Highlight
ผิวของลูกยังบางมาก สามารถมองทะลุเห็นเส้นเลือดได้เลยค่ะ
กระดูกของลูกเริ่มฟอร์มแล้วค่ะ ถ้า X-ray จะเห็นเป็นแนวกระดูกแล้วนะคะ
ตอนนี้ใบหูของลูกเริ่มอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมของมันแล้วค่ะ
สัปดาห์นี้ลูกน้อยเป็นอย่างไร?
ตอนนี้ลูกเราโตได้ขนาด 4 นิ้วแล้วนะคะ ขนาดเท่าๆ กับลูกแพรเลยค่ะ น้ำหนักประมาณ 75 กรัมได้แล้วค่ะ ตอนนี้หน้าตา เริ่มเห็นเป็นหนูน้อยมากขึ้นกว่าเดิมแล้ว ทั้ง หู จมูก ตา ปาก อยู่ในตำแหน่งที่เค้าควรจะเป็นแล้วค่ะ
กล้ามเนื้อ กระดูกของลูกก็เริ่มสร้าง และมีความแข็งแรงมากขึ้น กระดูกที่สร้างมากขึ้น ทำให้เค้าฝึกขยับตัวอยู่บ่อยครั้ง อาจมีการถีบ เตะ ได้บ่อยๆ แต่เนื่องจากเค้ายังตัวเล็กมากๆ คุณแม่อาจจะยังไม่รู้สึกผ่านทางหน้าท้องค่ะ
นอกจากจะฝึกความแข็งแรงของร่างกายแล้ว เค้ายังเริ่มฝึกการหายใจ และการกลืนด้วยนะคะ แต่แน่นอนว่า เค้าต้องฝึกอีกมากค่ะ การเต้นของหัวใจลูกจะได้ยินชัดเจนมากขึ้น จากการตรวจด้วยเครื่อง doppler หรือด้วยหูฟังของหมอค่ะ อย่างไรก็ตาม ยังไม่แนะนำให้คุณแม่ซื้อเครื่อง ultrasound มาฟังเองที่บ้านค่ะ นอกจากจะเกิดความผิดพลาดได้สูง ยังสร้างความกังวล แบบไม่จำเป็นอีกด้วย
อาการของคุณแม่สัปดาห์ที่ 15
น้ำหนักเริ่มปรับขึ้น
แน่นอนว่าพออาการแพ้ท้องดีขึ้น และความหิวและอยากอาหารของคุณแม่ก็มากขึ้น น้ำหนักของคุณแม่ ก็มักจะเริ่มปรับตัวขึ้น ซึ่งในไตรมาสที่ 2 นี้ น้ำหนักของคุณแม่จะเริ่มขึ้น อย่างไรก็ตามควรควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้ขึ้นเกิน 400-500 กรัม ต่อสัปดาห์ เนื่องจากน้ำหนักที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ระหว่างตั้งครรภ์ได้
ท้องขนาดใหญ่ขึ้น
สัปดาห์นี้หน้าท้องของคุณแม่จะเริ่มชัดขึ้นนะคะ นอกจากท้องจะใหญ่ขึ้น เต้านมก็ขยาย อาจต้องขยายชุดของคุณแม่ รวมถึงขนาดชุดชั้นในค่ะ
เส้นดำกลางหน้าท้องชัดขึ้น
ในช่วงตั้งครรภ์เม็ดสีต่างๆ จะชัดขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ ทำให้เม็ดที่เกิดจากการทำงานของ Melatonin ชัดเจนขึ้น เส้นดำที่กลางหน้าท้องจึงเด่นชัดมากขึ้น และจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามรอยดำนี้จะจางลงในช่วงหลังคลอด
อาการกรดไหลย้อน
เนื่องจากคุณแม่หิวบ่อยขึ้น มักจะทานอาหารปริมาณมากๆ ในครั้งเดียว จึงกระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ง่ายมากขึ้น
Tips สำหรับสัปดาห์นี้
สัปดาห์นี้คุณแม่จะไม่มีอาการแพ้ท้องแล้ว ทำให้เหมาะกับการเริ่มออกกำลังกายเบาๆ ได้ เช่น การว่ายน้ำ การเดินเร็วๆ การเล่นโยคะ ควรเลือกการออกกำลังกายที่เหมาะกับคุณแม่ค่ะ
สัปดาห์นี้ แม่ควรเสริม Prenatal DHA มากขึ้น และควรทานต่อเนื่องไปตลอดการตั้งครรภ์ ปริมาณ DHA ที่ควรเสริมคือ 250-500 mg ต่อวัน
ลองเดาเพศลูกคร่าวๆ ถ้าท่านไหนตรวจ NITP อาจทราบเพศลูกแล้วนะคะ แต่ถ้ายังไม่ทราบ เร็วๆ นี้คุณหมออาจจะเริ่มมองออกจากการทำ Ultrasound แล้วค่ะ
เนื่องจากคุณแม่จะหิวบ่อย แนะนำให้แบ่งทาน 5 มื้อ เช่น มื้อเช้า-อาหารว่าง-มื้อเที่ยง-อาการว่าง-มื้อเย็น เพื่อให้ไม่ต้องทานมื้อที่ใหญ่เกินไป และลดอาการหิวได้ โดยคุณแม่สามารถดื่ม Love protein บำรุงในช่วงอาหารว่างได้เลยค่ะ
สัปดาห์ที่ 15 แล้ว อีก 25 สัปดาห์เท่านั้น เดี๋ยวเราไปติดตามกันในสัปดาห์ที่ 16 นะคะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)
Comments