เชื่อหรือไม่คะว่าสัปดาห์นี้ ลูกมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าตอนเริ่มต้นถึง 10,000 เท่าแล้วค่ะ สมองของลูกก็เริ่มสร้างโดยสร้างมากขึ้น 100 เซลล์ในทุก 1 นาทีค่ะ ช่วงนี้โคลีนและ DHA จึงมีความสำคัญค่ะ ในสัปดาห์นี้ จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ไปติดตามกันนะคะ
Highlight
สัปดาห์นี้ รกได้เริ่มสร้างแข็งแรงขึ้นอีกระดับ และเริ่มมีการแลกเปลี่ยนสารอาหารผ่านสายรกบ้างแล้วนะคะ
คุณแม่จะมีมูกที่ขาวขุ่นมากขึ้น เป็นกระบวนการหนึ่งในการปกป้องเชื้อโรคไม่ให้เข้าไปสู่ช่องคลอด จนไปถึงลูกน้อยค่ะ
สัปดาห์นี้แผ่นที่มือของลูก เริ่มแยกเป็นร่องนิ้วเล็กๆ แล้วนะคะ
แม่เริ่มมีอาการแพ้ท้องชัดเจนขึ้นค่ะ
สัปดาห์นี้ลูกน้อยเป็นอย่างไร?
ตอนนี้ลูกมีขนาดโตกว่าตอนเริ่มต้นถึง 10,000 เท่าแล้วนะคะ แต่ขนาดก็ยังเล็กมากๆ เท่าผลบลูเบอร์รี่เท่านั้นเองค่ะ สมองของลูกเริ่มพัฒนามากขึ้น 100 เซลล์ต่อนาที แขนขาของลูกเริ่มยาวออกจากตุ่มเล็กๆ อันเดิม มือที่เคยเป็นแผ่น เริ่มมีการแบ่งร่องแยกตัวออก ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นนิ้วค่ะ ตอนนี้ไตก็เริ่มพัฒนา ซึ่งในอนาคต จะใช้กรองของเสียได้ค่ะ
อาการของคุณแม่สัปดาห์ที่ 7
แม้ว่าลูกขนาดแค่ผลบลูเบอร์รี่ แต่จากการทำงานของฮอร์โมน HCG อาจทำให้คุณแม่มีอาการคนท้องหลายๆ อย่างได้ค่ะ
อาการคัดตึงหน้าอก จากการที่ Estrogen และ Progesterone เพิ่มขึ้น หน้าอกจะเริ่มขยาย และการขยายของหน้าอก อาจมีต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ค่ะ เตรียมขนาดขนาดเสื้อในได้เลยค่ะ
อาการคลื่นไส้อาเจียน ยังคงมีต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกนี้ค่ะ
อาการปัสสาวะบ่อย
อาการกรดไหลย้อน บางคนอาจจะเริ่มมีอาการกรดไหลย้อนได้ เนื่องจากหูรูดหลอดอาหารคลายตัว และหลายๆ คน อาจมีอาการต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตลอดการตั้งครรภ์ได้ค่ะ
Tip สำหรับสัปดาห์นี้
ตอนนี้ คุณแม่ควรเริ่มติดตามน้ำหนักของตัวเองด้วยนะคะ โดยควรควบคุมให้น้ำหนักค่อยๆ ขึ้นไปตามเกณฑ์ การกินไม่ควรกิน x2 แต่กินเพิ่มประมาณ 500 กิโลแคลอรี่ ก็เพียงพอต่อการเติบโตของลูกน้อยค่ะ (อ่านเพิ่มเรื่อง น้ำหนักตัวที่เหมาะสมช่วงตั้งครรภ์)
ช่วงไตรมาสแรก คุณแม่ควรสังเกตเรื่องเลือดออกทางช่องคลอด ที่อาจพบได้ และอาจต้องระวังเป็นพิเศษ (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง เลือดออกทางช่องคลอดไตรมาสแรก)
ในช่วงนี้ ที่มีอาการแพ้ท้อง คุณแม่อาจเน้นทานน้อยๆ แต่ทานบ่อยๆ แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็กๆ สามารถทานโปรตีนเสริมระหว่างมื้อได้ค่ะ
ผลไม้ กลายเป็นขวัญใจคุณแม่ในช่วงนี้ แต่ระวังอย่าทานที่มีน้ำตาลมากเกินไป เดี๋ยวน้ำตาลเกิน แล้วจะเสี่ยงภาวะเบาหวานช่วงตั้งครรภ์ค่ะ
ใกล้ผ่านเดือนที่ 2 แล้ว ยังมีสัปดาห์ที่ 8 ที่น่าเรียนรู้อีกสัปดาห์นะคะ แล้วมาติดตามกันค่ะ
#รักในแบบฉบับแม่
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)
Comments