top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

8 สิ่งที่ควรทำ ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ (Things to do during the first trimester)

ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คือระหว่างสัปดาห์ที่ 1-13 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายของคุณแม่เปลี่ยนแปลง มีอาการแพ้ท้อง รวมถึงลูกน้อยในท้องก็พัฒนาอวัยวะและรูปร่างอย่างรวดเร็ว ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์นี้ คุณแม่มือใหม่หลายๆ คน อาจยังไม่มีประสบการณ์มาก่อนว่า อะไรควรทำ หรือไม่ควรในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ วันนี้หมอหน่อยมีความรู้เรื่องนี้มาเล่าให้ฟังค่ะ


สิ่งที่ควรทำ


1.อาหารเป็นแหล่งสารอาหารและพลังงานของคุณและลูก

ถ้ามองว่าตอนนี้คุณแม่เป็นพาหนะ ที่ขนสินค้าที่มีค่ามากๆ นั่นคือลูกน้อยของคุณ คุณย่อมต้องการน้ำมันที่มีคุณภาพ และมีพลังงานมากพอที่จะทำให้คุณเดินทางได้ราบรื่นมากที่สุด เลือกกินอาหารที่มีคุณภาพ ไขมันดี ทานผักผลไม้ให้มากขึ้น ทานอาหารที่หลากหลายอุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ และเลี่ยงเลี่ยงอาหาร Junk food เนื้อดิบ ไข่ดิบ หรืออาหารที่มีสารเคมีต่างๆ


2. คิดถึงโฟเลตในมากๆ

โฟเลต หรือ กรดโฟลิค มีความสำคัญมากในกระบวนการสร้างระบบประสาทและการปิดของระบบประสาทของทารกในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องโฟเลต) ถ้าใครยังไม่ได้เริ่มทานโฟเลต หลังทราบว่าตั้งครรภ์ ควรเริ่มทานวิตามินที่มีส่วนผสมของโฟเลตหรือ Folic acid 400-800 มิลลิกรัม เพื่อให้เพียงพอในการป้องกันความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับทารก นอกจากนี้ควรเพิ่มอาหารที่มีโฟเลตสูงในอาหารแต่ละมื้อร่วมด้วย



3. ทาน Prenatal vitamins

Prenatal vitamins เป็นวิตามินที่ออกแบบมาเพื่อบำรุงแม่และทารกในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ นอกจากจะมีส่วนผสมของโฟเลตแล้ว ยังมีส่วนผสมของวิตามินและเกลือแร่อื่นๆ ที่จำเป็นต่อการเติบโตของทารก เช่น แคลเซียม สังกะสี ธาตุเหล็ก ไอโอดีน รวมถึง omega-3 ที่ความสำคัญต่อการเติบโตของทารก

วิตามินแนะนำ : Prenatal vitamins หรือ Premium Prenatal vitamins


4. นอนหลับให้พอ

ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ คุณอาจรู้สึกอ่อนเพลียมากเป็นพิเศษเพราะคุณกำลังสร้างสิ่งมีชีวิตอีกคนนึงในท้องของคุณ ในช่วงนี้คุณแม่ควรพักผ่อนให้เพียงพอนอนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน หรืออาจหาช่วงเวลาพักผ่อนระหว่างวันทำงานให้มากขึ้น


5. ออกกำลังกาย

ถ้าคุณเป็นคนที่ออกกำลังกายอยู่แล้วดีมากเลยค่ะ คุณแม่ยังออกกำลังต่อไปได้เพียงแต่อาจลดความหนักลงมาประมาณ 40-50% ในช่วงนี้ และไม่ควรให้หัวใจเต้นเร็วเกินไป (ไม่ควรเกิน 140 ครั้งต่อนาที) การออกกำลังกายนอกจากจะทำให้ร่างกายของคุณแข็งแรงเพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและการขยายของหน้าท้องแล้ว ยังช่วยไม่ให้น้ำหนักของคุณขึ้นเร็วจนเกินไป และช่วยให้หลับได้ดีขึ้นด้วยค่ะ อย่างไรก็ตาม กรณ๊คุณมีความเสี่ยงต่างๆ เช่นภาวะแท้งคุกคาม หรือโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการออกกำลังกายก่อนเสมอนะคะ


6. ดื่มน้ำให้เพียงพอ

ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์คุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้อง ทานได้น้อย การดื่มน้ำให้เพียงพอเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยลดภาวะขาดน้ำได้ นอกจากนี้การดื่มน้ำให้เพียงพอจะช่วยลดอาการท้องผูกซึ่งเกิดขึ้นได้ง่ายในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ โดยปริมาณน้ำที่พอดีสังเกตุได้จากสีของปัสสาวะ ปริมาณน้ำที่พอดีจะทำให้สีปัสสาวะใส หรือเป็นสีเหลืองอ่อนๆ ถ้าปัสสาวะมีสีเข้มเกินไปอาจแสดงว่าปริมาณน้ำที่ดื่มอาจจะยังไม่เพียงพอค่ะ


7. ฝากครรภ์ในเรียบร้อย

ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการไปฝากครรภ์ (อ่านเรื่อง ควรไปฝากครรภ์ครั้งแรกเมื่อไหร่ดี?) เนื่องจากแพทย์จะสามารถติดตามการตั้งครรภ์ของคุณแม่อย่างใกล้ชิด สามารถติดตามความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว สามารถคำนวณอายุครรภ์ได้แม่นยำกว่าไตรมาสอื่นๆ และหากคุณแม่มีข้อส่งสัยด้านไหน ก็สามารถสอบถามแพทย์ เพื่อให้ได้แนวทางในการปฏิบัติอย่างถูกต้อง


8. ขอความช่วยเหลือ

ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์คุณแม่อาจมีอาการแพ้ท้อง อ่อนเพลีย ช่วงนี้คุณแม่อาจต้องขอความช่วยเหลือและได้รับการดูแลจากคนใกล้ชิด เช่น ความช่วยเหลือจากคุณพ่อในการทำงานบ้านต่างๆ ความช่วยเหลือจากเพื่อร่วมงานในการทำงานบางประเภท หรือความช่วยเหลือจากคุณหมอเมื่ออาการแพ้ท้องดูมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อสุขภาพของคุณและลูก


ในช่วงไตรมาสแรกนี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญ หากคุณแม่สามารถดูแลตัวเองอย่างดีและสามารถผ่านไตรมาสแรกไปได้ โอกาสที่คุณแม้จะแท้งหลังจากจะเหลือแค่ประมาณ 1-5% เท่านั้น ดังนั้นช่วงนี้คุณแม่สู้ๆ นะคะ นอกจากสิ่งที่คุณแม่ควรทำแล้วยังมีสิ่งที่คุณแม่ไม่ควรทำในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ด้วย มีอะไรบ้างนั้น มาติดตามกันใหม่ในบทความหน้านะคะ


เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ (Tantawan Jomkwanjai. MD) drnoithefamily


ดู 7 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page