นมแม่ อาหารมื้อแรกของลูกน้อย เป็นอาหารที่สมบูรณ์ที่สุดของลูก อุดมไปด้วย สารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต การสร้างภูมิคุ้มกัน รวมถึงการพัฒนาการของสมอง (อ่านเพิ่มเติมเรื่องส่วนประกอบของนมแม่) นอกจากนี้นมแม่ยังมีประโยชน์ต่อทั้งลูกน้อยและคุณแม่ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วยนะคะ วันนี้ไปดู 11 ประโยชน์ของนมแม่กันค่ะ
ช่วงเวลา 1,000 วันแรก หรือตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง จนถึง 2 ขวบปีแรก เป็นช่วงเวลาสำคัญในการเจริญเติบโตของทั้งร่างกายและสมองของลูก สภาพแวดล้อม และโภชนาการต่างๆ ที่ลูกได้รับจึงมีความสำคัญมาก
นมแม่ เป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ที่สุดของลูกน้อย เนื่องจากมีสารอาหารที่จำเป็นและมีประโยชน์อย่างมากต่อร่างกาย องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization : WHO) แนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน และทานนมแม่ต่อพร้อมกับการเริ่มทานอาหารอย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี หรืออาจถึง 2 ปีถ้าสามารถทำได้
มีข้อมูลทางการแพทย์มากมายกล่าวถึงประโยชน์ของนมแม่ต่อลูกน้อย และมารดา คือ
ประโยชน์ต่อลูก
1.นมแม่มีสารอาหารที่ลูกน้อยต้องการอย่างครบถ้วน
ในนมแม่มีอาหารต่างๆ ที่จำเป็นในแต่ละวันของลูกน้อยอย่างครบถ้วนโดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด นอกจากนี้สารอาหารในนมแม่ ยังปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการของลูกน้อยด้วย
ในช่วงแรก แม่จะสร้างน้ำนมระยะหัวน้ำนมหรือ Colostrums ซึ่งมี โปรตีน น้ำตาล และภูมิคุ้มกัน สำหรับลูกน้อย เหมาะกับการปรับตัวของลูกในระยะแรกหลังคลอด หลังจากนั้น ร่างกายแม่จะผลิตน้ำนมมากขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการของลูกที่มากขึ้นในแต่ละวัน ในนมแม่มีสารอาหารครบถ้วนแทบทุกชนิดที่ลูกน้อยต้องการ ยกเว้น วิตามินดี ที่พบได้น้อยในนมแม่ ดังนั้น คุณแม่อาจต้องพาลูกน้อยสัมผัสแสงแดดบ้าง หรือ อาจต้องเสริมวิตามินดีให้ลูกน้อยหากจำเป็น
2.นมแม่มีภูมิคุ้มกันที่ดี
ในนมแม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีส่งต่อไปให้ลูกน้อยผ่านทางน้ำนม ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส และแบคทีเรียต่างๆ โดยเมื่อแม่ป่วยหรือสัมผัสเชื้อโรคจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา โดยเฉพาะ IgA ที่ผ่านไปทางน้ำนม จะไปปกป้องตามเนื้อเยื่อของระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร ทำให้ทารกที่ดื่มนมแม่ป่วยยากกว่าทารกที่ดื่มนมผงซึ่งไม่มีภูมิคุ้มกันนี้อยู่
3. ลดโอกาสเกิดการเจ็บป่วยในหลายๆ โรค
การที่ลูกดื่มนมแม่อย่างเดียว (Exclusive breastfeeding) จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลายโรค เช่น
หูชั้นกลางอักเสบ
โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
ไข้หวัด/คออักเสบ
ติดเชื้อทางเดินอาหาร
โรคไหลตายในเด็ก หรือ Sudden infant death syndrome (SIDS)
โรคภูมิแพ้/ หอบหืด/ ผื่นแพ้ผิวหนัง
โรคลำไส้อักเสบ
โรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2
โรค Leukemia ในเด็ก
4. นมแม่ช่วยให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
เด็กที่ดื่มนมแม่จะพบภาวะโรคอ้วนและน้ำหนักเกินน้อยกว่าเด็กที่ดื่มนมขวด สาเหตุมาจากการทำงานของลำไส้ที่ดีว่า ทำให้การดูดซึมต่างๆ ดีกว่า รวมถึงในนมแม่มีสาร Leptin ที่ช่วยควบคุมความอยากอาหารและกระบวนการสะสมไขมัน นอกจากนี้เด็กที่ดื่มนมแม่จะรู้จักควบคุมความอยากอาหารของตนเอง จะหยุดกินเมื่ออิ่ม ส่งผลให้พฤติกรรมการกินในอนาคตก็ดีขึ้นด้วย
5. นมแม่อาจทำให้ลูกฉลาดขึ้น
มีการศึกษาพบว่า เด็กที่ดื่มนมแม่จะมีระดับสติปัญญาที่สูงกว่าเด็กที่ดื่มนมผง ทั้งด้านภาษา ความคิด การอ่าน ความจำ (1)(2) ซึ่งอาจเป็นผลมาจากสารอาหารที่ผ่านทางนมแม่ โดยเฉพาะ DHA และ Choline ที่จำเป็นต่อการสร้างระบบประสาทของทารกในช่วงแรกหลังคลอด และช่วงการให้นม ได้มีการกอด การมอง สัมผัส (Skin to Skin) ซึ่งเป็นการกระตุ้นพัฒนาการต่างๆ เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ เด็กที่ดื่มนมแม่ยังมีปัญหาเกี่ยวช่องปากน้อยกว่าเด็กที่ดื่มนมผง รวมถึงเด็กจะได้รับรสชาติอาหารต่างๆ ผ่านทางนมแม่ ทำให้เด็กมีโอกาสที่จะทานอาหารต่างๆ ได้ง่ายกว่า เนื่องจากคุ้นชินกับรสชาติอาหารที่หลากหลาย ที่แม่ทานเป็นประจำ
จะเห็นได้ว่า นมแม่มีประโยชน์เป็นอย่างมากกับลูกน้อย นอกจากนี้ยังมีประโยชน์กับคุณแม่คือ
ประโยชน์ต่อแม่
6. ช่วยลดน้ำหนัก
เนื่องจากการให้นมแม่ ต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน และร่างกายจะดึงไขมันส่วนเกินตามร่างกายของแม่ มาใช้ในการผลิตน้ำนม ทำให้แม่ให้ที่นมลูก มีโอกาสที่น้ำหนักจะลดลงมากกว่าคนที่ไม่ให้นมแม่ โดยเฉพาะหลังคลอดประมาณ 3 เดือน
7. ช่วยให้มดลูกหดตัวได้เร็วขึ้น
เป็นที่ทราบกับดีว่าในช่วงตั้งท้อง มดลูกของแม่จะขยายมากขึ้นเป็นพันเท่า จากที่ขนาดเท่าลูกแพรจะขยายใหญ่จนเต็มหน้าท้อง พอหลังคลอดร่างกายจะสร้างสาร Oxytocin ที่ช่วยให้มดลูกหดรัดตัว และหยุดเลือด การให้นมแม่จะทำให้เกิดการหลั่งของสาร Oxytocin อย่างต่อเนื่อง ทำให้มดลูกหดรัดตัวกลับมาอยู่ใรขนาดปกติได้เร็วขึ้น และช่วยลดโอกาสเกิดการตกเลือดหลังคลอดได้
8. ช่วยลดโอกาสเกิดโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้
มีการศึกษาพบว่า แม่ที่ให้นมลูกอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน มีโอกาสเกิดโรคซึมเศร้าหลังคลอดน้อยกว่าคนที่ไม่ให้นมแม่ (3) อย่างไรก็ตาม พบว่าคนที่มีภาวะซึมเศร้าตั้งแต่แรก ก็มีโอกาสที่จะล้มเหลวให้การให้นมแม่ได้เช่นกัน ดังนั้น คุณแม่ท่านไหนที่มีแนวโน้วจะกลายเป็นโรคซึมเศร้า ควรรีบปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ ค่ะ
9. การให้นมแม่ช่วยลดการเกิดโรคได้
การศึกษาพบว่า การให้นมแม่สัมพันธ์กับการลดโอกาสการเกิดโรคหลายชนิด เช่น
โรคมะเร็งเต้านม/ มะเร็งรังไข่
โรคความดันโลหิตสูง
โรคเบาหวาน
โรคหัวใจ
โรคกระดูกพรุน
10. การให้นมแม่ช่วยยับยั้งการตกไข่
การให้นมแม่อย่างเดียว จะช่วยยับยั้งการตกไข่ ทำให้ไม่มีประจำเดือน และสามารถคุมกำเนิดได้ แต่จะคุมกำเนิดได้ดีในช่วง 6 เดือนแรกเท่านั้น และได้ผลดีเฉพาะคนที่ให้นมแม่อย่างเดียวค่ะ
11.ประหยัดค่าใช้จ่าย/ประหยัดเวลา
การให้นมแม่ จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อนมผง การซื้อขวดนมจำนวนมาก ซึ่งสามารถประหยัดได้ถึง 2-3 พันบาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังประหยัดเวลาในการชงนม อุ่นนม การทำความสะอาดขวดนม หรือการต้องตื่นมาเพื่อชงนมตอนกลางคืนด้วย
จะเห็นได้ว่า นมแม่มีประโยชน์มากมาย แต่ก็ใช่ว่าคนที่ให้นมแม่ไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุไหนจะเป็นคุณแม่ที่แย่นะคะ เพราะ ความรักที่คุณแม่มีให้ลูก สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดค่ะ ขอให้คุณแม่มีความสุขในการเป็นแม่ในรูปแบบของตัวเองนะคะ แล้วมาพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ
อ้างอิงจาก
コメント