แม้ในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังคลอด จะเหมือนว่าลูกกินกับนอน เป็นหลัก แต่ทราบหรือไม่คะว่า การเล่น และของเล่นบางชนิด สามารถส่งเสริมพัฒนาการของลูก ตั้งแต่ทางด้านร่างกาย ด้านสังคม ด้านภาษา รวมถึงทางด้านอารมณ์ของลูกน้อยด้วย ในช่วง 0-6 เดือน พัฒนาการของลูกอาจมีพัฒนาหลายๆ ด้าน แล้วในช่วง 0-6 เดือนนี้ มีของเล่น หรือ กิจกรรมไหนที่แนะนำบ้าง หมอหน่อยมีความรู้มาเล่าให้ฟังค่ะ
แม้ว่าในช่วง 0-6 เดือนหลังคลอด จะดูเหมือนว่าการเลี้ยงลูกจะเน้น การให้นม การพานอน การเปลี่ยนผ้าอ้อม แต่เชื่อหรือไม่ว่า การเล่น เป็นหนึ่งใสกิจกรรมที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านพัฒนาการของลูกน้อยได้หลายด้าน ทั้งด้านความจำ ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ด้านสังคม
ผ่านการเล่น ลูกน้อยสามารถเรียนรู้สิ่งรอบตัว เรียนรู้คนเลี้ยง รวมถึงการเรียนรู้ตัวเอง การเล่นกับลูกบ่อยๆ จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่สมวัย มีการเรียนรู้ที่เร็วขึ้น การเล่นกับลูกอาจไม่จำเป็นต้องใช้ของเล่นแพงๆ แค่การนอนบนพื้น อ่านหนังสือ ทำเล่นกับลูกบนพื้น ด้วยของในบ้านเท่าที่มี ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับลูกได้แล้ว
ในช่วง 6 เดือนแรก จะเป็นพัฒนาการสร้างสังคม ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์ ที่พัฒนาแบบก้าวกระโดด (อ่านพัฒนาการของลูกน้อย 0-3 เดือน) การเล่นจะช่วยให้พัฒนาการขอลูกน้อยเป็นไปได้อย่างเหมาะสมรวดเร็วขึ้น
ของเล่นไหนที่เหมาะกับลูกน้อยช่วงนี้บ้าง
ของเล่นในช่วงแรกเกิดของลูก มักจะเป็นของเล่นง่ายๆ ไม่มีความซับซ้อน เน้นความเบา กระตุ้น การมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส ตัวอย่างของเล่นที่เหมาะสมในวัยนี้คือ
1. ตุ๊กตาแขวนเสริมพัฒนาการ
ตุ๊กตาเหล่านี้ ถูกออกแบบมาให้เด็กตั้งแต่แรกเกิด ตุ๊กตาจะสามารถกระตุ้นการได้ยินจากเสียงที่มากับตุ๊กตา กระตุ้นการมองเห็น เนื่องจากส่วนใหญ่จะมีสีแบบ High contrast และมักจะมีกระจกมาให้ด้วย กระตุ้นการสัมผัสจากผิวสัมผัวของตุ๊กตา ทั้งยังสามารถเป็นที่กัดให้ลูกน้อยได้
จุดเด่นของของเล่นกลุ่มนี้คือ สามารพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก ห้อยรถเข็น หรือคาร์ซีทได้ ทำให้ลูกไม่เบื่อหน่ายเวลาต้องเดินทางนานๆ
2. แผ่นกิจกรรมทำ Tummy Time
การทำ Tummy time เป็นกิจกรรมที่ แนะนำให้ฝึกลูกทำตั้งแต่กลับจากโรงพยาบาล เพราะสามารถกระตุ้นพัฒนาการต่างๆ ได้ แผ่นกิจกรรมทำ Tummy time จะช่วยให้การทำ Tummy time ของลูกน้อยสนุกขึ้น ทำได้นานขึ้น (อ่านเพิ่มเติมเรื่องการทำ Tummy Time)
3. Rattle หรือ ของเล่นแบบมีเสียง
Rattle เป็น 1 ในของเล่นที่ควรมี เนื่องจาก rattle สามารถกระตุ้นการได้ยินได้เป็นอย่างดี สามารถใช้เล่นให้ลูกหันตามเสียงได้ เป็น 1 ในการทดสอบการได้ยินของลูกน้อย นอกจากนี้ Rattle ส่วนใหญ่จะมีที่จับที่พอดีมือ สามารถฝึกการใช้งานทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และสามารถใช้เล่นได้ในหลายๆ กิจกรรม จึงเป็นหนึ่งในของเล่นที่ควรมีติดบ้านค่ะ
4. Play Gym
Play gym หรือ แผ่นกิจกรรมสำหรับลูกน้อย สามารถกระตุ้นพัฒนาการได้เป็นอย่างดี สามารถเริ่มเล่นได้ตั้งแต่ช่วง 1-3 เดือนแรก Play Gym มักจะมีกิจกรรมต่างๆ ให้ลูก เช่น มีตุ๊กตาแขวนให้มองกระตุ้นการมองเห็น มีกระจก มีเสียงเพลง มีแผ่นให้เต๊ะ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สามารถสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อขาได้ นับเป็น 1 ในของเล่นที่คุ้มค่าในการลงทุน เพื่อกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้ค่ะ
5. หนังสือผ้า
หนังสือกับเด็กๆ มักเป็นของคู่กันเสมอ สำหรับลูกน้อย 0-6 เดือน หนังสือผ้ามักเป็นสิ่งแรกๆ ที่ควรมีติดบ้าน ลูกน้อยสามารถเรียนรู้สีสัน เรื่องราวต่างๆ ผ่านหนังสือผ้า สัมผัสของผ้าสามารถกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสของลูกได้เป็นอย่างดี
หนังสือผ้าบางเล่ม มีเสียงเพลงสร้างความเพลิดเพลิน และสร้างความชอบด้านดนตรีของลูกได้และสามารถเล่นได้ในระยะยาวเลยค่ะ
6. Music time หรือ ของเล่นกลุ่มเสียงเพลง
เด็กทุกคนมักจะมีความเป็นศิลปินอยู่ในตัวเองเสมอ ประโยชน์ของเสียงดนตรีกับลูกน้อยมีหลายอย่าง
ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านการได้ยิน
ส่งเสริมพัฒนาการด้านความคิดสร้างสรรค์ หรือ Creativity จากการเล่นดนตรี หรือทำให้เกิดเสียงต่างๆ
ส่งเสริมด้านอารมณ์-สังคม (Social-emotional skill)
ส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษา จากการลองร้อง ออกเสียงตาม
สร้างความสุข เป็นผลดีทางด้านอารมณ์ของลูกน้อย
กระตุ้น Cognitive skill จากการเรียนรู้ Pattern ของเสียงเพลง
กระตุ้นพัฒนาการด้านร่างกาย การใช้มือ กล้ามเนื้อมัดเล็ก
7. ยางกัด หรือ teething toy
ยางกัด อาจไม่ได้เป็นของเล่นที่สามารถกระตุ้นพัฒนาการให้ลูกน้อยได้แบบชัดเจน แต่เป็นของเล่นที่สามารถสร้างความเพลิดเพลินให้ลูกน้อยได้ ในช่วง 3-6 เดือน ลูกน้อยจะเริ่มมีพฤติกรรมชอบเอาของเข้าปาก เริ่มมีอาการคันเหงือก ยางกัด เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่สามารถ ลดอาการคันเหงือก และสร้างความเพลิดเพลินให้ลูกน้อยได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้ลูกน้อยได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือ เวลาจับยางกัด ทำให้ลูกมีพัฒนาการเรื่อง Palmar grasp มากขึ้น
8. ตุ๊กตาตัวโปรดของลูก
เด็กๆ หลายๆ คนจะมึตุ๊กตาตัวโปรด ผ้าอันโปรด หรือเรามักจะเรียกว่า ผ้าเน่า โดยส่วนใหญ่ของเล่นพวกนี้ จะให้คุณค่าทางจิตใจกับลูกเป็นหลัก เนื่องจากจะเป็นตัวแทนของแม่ หรือ ของพ่อ ได้ ตุ๊กตาบางตัวมีผิวสัมผัส มีเสียง หรือ มีที่ให้ลูกกัด ก็จะสามารถให้งานได้อย่างหลากหลายมากขึ้นค่ะ
นี่ก็จะเป็นของเล่นหลักๆ ของลูกน้อยในช่วง 0-6 เดือน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ อาจลองพิจารณาเลือกให้เหมาะกับตัวเล็กที่บ้านนะคะ แล้วเดี๋ยวหมอหน่อยมาอัพเดตของเล่น สำหรับลูกวัย 6-12 เดือน อีกทีนะคะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)
Comments