top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

เสริมหน้าอกด้วยซิลิโคนมา จะมีปัญหาต่อการให้นมบุตรหรือไม่? (Breastfeeding with breast implants)

อัปเดตเมื่อ 27 มี.ค. 2566

ว่าที่คุณแม่หลายท่านที่เคยผ่านการทำหน้าอก มีการใส่ซิลิโคนที่หน้าอกมาก่อน อาจจะมีความกังวลว่าถ้าเคยทำหน้าอกมาก่อน จะยังสามารถให้นมแม่กับลูกได้หรือไม่ วันนี้หมอหน่อยมีคำอธิบายเรื่องนี้ เพื่อคลายความกังวลให้คุณแม่ทุกท่านค่ะ


น้ำนมแม่สร้างจากที่ไหน?


ตามปกติน้ำนมแม่จะสร้างจากต่อมน้ำนมและถูกเก็บไว้ที่ถุงเก็บน้ำนม (Lobules) หลังจากนั้นจะถูกลำเลียงผ่านท่อน้ำนม (milk duct) ออกมาที่บริเวณลานนม (Aleola) และออกมาที่หัวนม (Nipple) เพื่อออกมาให้ลูกน้อยทาน



ตามปกติในปัจจุบันการทำหน้าอก จะมีการเปิดแผล 3 บริเวณคือ

  • แผลใต้รักแร้

  • แผลใต้ราวนม

  • แผลใต้ลานนม

การวางซิลิโคน ก็มักจะมีการวางหลักอยู่ 2 ตำแหน่งคือ

  • ชั้นใต้กล้ามเนื้อ

  • ชั้นเหนือกล้ามเนื้อ

ซึ่งทั้ง 2 ตำแหน่งก็ไม่ได้มีผลต่อการสร้างน้ำนม เนื่องจากไม่ได้ไปรบกวนบริเวณถุงเก็บน้ำนม


การทำหน้าอกมีผลต่อการให้นมแม่หรือไม่?


อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เนื่องจากการทำหน้าอก ไม่ได้มีผลต่อต่อมผลิตน้ำนม ถุงเก็บน้ำนม หรือ ท่อน้ำนม ดังนั้น โดยส่วนใหญ่ ผู้หญิงที่ทำหน้าอกมา จะยังสามารถให้นมลูกได้ปกติ


แต่ในกรณีที่มีการเปิดแผลบริเวณลานนม อาจมีผลต่อการกระตุ้นการสร้างน้ำนมอยู่บ้าง เนื่องจากบริเวณลานนมจะมีเส้นประสาทอยู่ และมักได้รับการกระตุ้นจากการดูดนมของลูก ทำให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมน Prolactin และ Oxytocin หากมีการบาดเจ็บบริเวณลานนมนี้ ก็อาจส่งผลต่อการสร้างและการหลั่งของน้ำนมได้เช่นกัน


หน้าอกมีซิลิโคน ปลอดภัยในการให้นมลูกหรือไม่?


จากข้อมูลของ CDC แล้ว ยังไม่พบอันตรายจากการให้นมแม่ โดยที่แม่มีซิลิโคนอยู่ หากซิลิโคนมีคุณภาพดี จะมีการสร้างถุงอย่างดีป้องกันการรั่วซึมออกมาปนเปื้อนในร่างกาย


อย่างไรก็ตาม การให้นมแม่กรณีแม่เคยเสริมหน้าอกมาก่อน อาจมีผลให้

  • รูปร่างของหน้าอกเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากการเสริมหน้าอก มักจะทำให้มีผังผืดรอบๆ ซิลิโคน เมื่อเกิดการบีบตัว ตอนให้นม อาจทำให้หน้าอกผิดรูปได้

  • อาจเพิ่มโอกาสที่ต้องผ่าตัดซ่อมแซมกรณีหน้าอกผิดรูป

  • บางคนอาจเกิดอาการปวดตอนให้นมได้

  • มีโอกาสที่ซิลิโคนอาจแตกได้ หากมีการบีบตัวของหน้าอกมากๆ

เทคนิคการเพิ่มน้ำนม


  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 3-4 ลิตรต่อวัน

  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ได้พลังงานเพิ่มขึ้น 500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน โดยเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารกลุ่มโปรตีน

  • นอนหลับให้เพียงพอ หาเวลานอนในช่วงเวลาที่ลูกนอนหลับ

  • ระบายน้ำนมให้สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการให้นมลูก หรือ การปั๊มนมทุก 3-4 ชั่วโมง

  • ทานอาหารเพิ่มน้ำนม เช่น หัวปลี กระเพา ฟักทอง หรือ คุกกี้เพิ่มน้ำนม


กล่าวโดยสรุปคือ

คุณแม่ที่เคยเสริมหน้าอกมาก่อน สามารถให้นมลูกได้ปกติ ไม่ส่งผลเสียต่อลูกแต่อย่างใด แต่อาจต้องระวังเรื่องการผิดรูป และอาจจะไม่เหมาะกับการปั๊มนมค่ะ


หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ และคลายความกังวลให้คุณแม่ได้นะคะ แล้วมาติดตามกันได้ใหม่ในบทความหน้าค่ะ


เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (TantawanJomkwanjai.MD)










ดู 331 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page