top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

9 อาการ ที่ชวนให้สงสัยว่าคุณท้อง (Early pregnancy symptoms)

อัปเดตเมื่อ 11 ธ.ค. 2566

การตรวจการตั้งครรภ์ หรือ การทำอัลตร้าซาวด์ เป็นวิธีการเดียวที่จะยืนยันว่าคุณตั้งท้องได้ อย่างไรก็ตามร่างกายของคุณก็มักจะมีสัญญาณบางอย่าง ที่อาจชวนให้คุณสงสัยว่าคุณตั้งท้องรึเปล่า? อาการเริ่มต้นของการตั้งท้องมีอะไรบ้าง? คุณจะสามารถสังเกตุตัวเองได้อย่างไร? แล้วคุณมีวิธีการในการจัดการอาการเหล่านั้นอย่างไร? วันนี้เราจะไปเรียนรู้เรื่องนี้กันค่ะ



คุณจะเริ่มมีอาการของคนท้องเมื่อไหร่?


แม้จะฟังดูแปลกๆ แต่เราเริ่มนับสัปดาห์แรกของรอบเดือน เป็นสัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์แม้ว่าเราจะยังไม่ท้องเลยด้วยซ้ำ เนื่องจาก เราไม่ได้รู้จริงๆ ว่าตัวอ่อนเกิดการปฎิสนธิวันไหน การใช้วันแรกของประจำเดือนรอบล่าสุดที่มา จึงเป็นตัวช่วยในการนับอายุครรภ์ที่ดีที่สุด ซึ่งจะเริ่มนับสัปดาห์แรกของการมีประจำเดือนเป็นสัปดาห์ที่ 1 โดยทั้งหมดของการตั้งครรภ์นับเป็น 40 สัปดาห์ ในแต่ละสัปดาห์คุณจะมีอาการผิดปกติแบบไหนบ้าง?

  • สัปดาห์ที่ 1-4 : ปวดเกร็งท้อง หรือ มีเลือดออกเล็กน้อยทางช่องคลอด

  • สัปดาห์ที่ 4 : ประจำเดือนขาด

  • สัปดาห์ที่ 4 : อุณหภูมิกายขณะพักสูงขึ้น

  • สัปดาห์ที่ 4-5 : อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

  • สัปดาห์ที่ 4-6 : คลื่นไส้อาเจียน

  • สัปดาห์ที่ 4-6 : คัดตึงเต้านม

  • สัปดาห์ที่ 4-6 : ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

  • สัปดาห์ที่ 4-6 : ท้องอืดแน่น

  • สัปดาห์ที่ 6 : อารมณ์แปรปรวน

1. อาหารปวดเกร็งท้อง หรือ มีเลือดออกเล็กน้อยทางช่องคลอด (Cramping and spotting)


ในช่วงสัปดาห์ที่ 1-4 ของการตั้งครรภ์ ทุกอย่างยังเกิดในระดับเซลล์ หลังการปฏิสนธิระหว่างเซลล์ไข่กับสเปิร์ม ตัวอ่อนจะมีการแบ่งตัวไปเรื่อยๆ จนถึงระยะ Blastocyst ประมาณวันที่ 7-14 หลังการปฎิสนธิ ตัวอ่อนจะฝังตัวที่ผนังมดลูก ทำให้มีเลือดออกเล็กน้อยบริเวณช่องคลอดได้ เราเรียกเลือดในช่วงนี้ว่า Implantation bleeding หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก ซึ่งอาจสับสนกับเลือดออกช่วงมีประจำเดือนแรกๆ ได้ โดยลักษณะที่ แตกต่างของ Implantation bleeding คือ

  • สี : มักเป็นสีชมพู หรือ น้ำตาล

  • ปริมาณเลือด : ลักษณะเป็นหยดแค่เปื้อนกางเกงใน ปริมาณไม่มาก

  • อาการปวดเกร็งท้อง : พบได้ 28% ในคนที่มี Implantation bleeding

  • ระยะเวลา : อาจมีได้ตั้งแต่ 1-3 วัน

อาการเลือดออกหรือ Implantation bleeding ไม่ได้มีอันตรายในการตั้งครรภ์แต่อย่างใด และไม่จำเป็นต้องทำการรักษา


2. ประจำเดือนขาด (Missed period during early pregnancy)


หลังจากที่ตัวอ่อนฝังตัวสมบูรณ์แล้ว ตัวอ่อนจะสร้างฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ หรือ human chorionic gonadotropin (hCG) ซึ่งจะไปยับยั้งการเติบโตของไข่และทำให้ไข่ไม่ตก ถ้าการตั้งครรภ์สำเร็จ แน่นอนว่าคุณจะไม่มีประจำเดือนในเดือนต่อๆ ไป เพราะผนังมดลูกไม่ลอกตัว คุณควรตรวจการตั้งครรภ์เพื่อยืนยันผลการตั้งครรภ์ให้แน่ชัด


ถ้าผลตรวจ Positive หมายถึงคุณตั้งครรภ์ หมอก็ขอแสดงความยินดีด้วยนะคะ^^


3. อุณหภูมิการขณะพักสูงขึ้นอีกเล็กน้อย


อย่างที่ทราบกันดีว่า อุณหภูมิการขณะพัก อาจจะสูงขึ้นหลังวันไข่ตก (อ่านเพิ่มเรื่องอุณหภูมิกายขณะพัก) จากการทำงานของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน หากตัวอ่อนฝังตัวสำเร็จร่างกายจะสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย เพื่อให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่ออย่างราบรื่น หากคุณวัดอุณหภูมิการขณะพักไปเรื่อยๆ คุณจะพบว่าอุณหภูมิกายของคุณจะสูงขึ้นอีกเล็กน้อย ในช่วงก่อนประจำเดือนจะมา และจะสูงลอยไปเรื่อยๆ จากฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ค่ะ ในช่วงนี้คุณควรดื่มน้ำให้เพียงพอ กับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิกายของคุณค่ะ


4. อ่อนเพลีย ไม่มีแรง


อาการอ่อนเพลียสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดช่วงการตั้งครรภ์ จากการทำงานของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ที่เปลี่ยนแปลง ร่างกายคุณอาจต้องใช้พลังงานในการเติบโตของทารกในครรภ์มากขึ้น ทำให้คุณรู้สึกอ่อนเพลีย และง่วงนอนอยู่ตลอด ในช่วงนี้คุณควรทานอาหารให้เพียงพอ นอนพักในได้คุณภาพและปริมาณที่เหมาะสมค่ะ


5. คัดตึงเต้านม


คุณอาจมีอาการคัดตึงเต้านม ได้ช่วงสัปดาห์ที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อคุณปรับตัวกับฮอร์โมนได้ และเต้านมคุณจะเริ่มเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 11 ของการตั้งครรภ์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับทารก ในช่วงนี้คุณควรเลือกชุดชั้นในที่ใส่สบาย ไม่อึดอัด


6. ปัสสาวะบ่อย


จากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ในช่วงแรกนี้ จะทำให้มีปริมาณของน้ำในร่างกายมากขึ้น มีน้ำไปกรอกที่ไตมากขึ้น ทำให้คุณปัสสาวะบ่อยขึ้นกว่าเดิม คุณควรเดิมน้ำให้เพียงพอ เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ และวาแผนการเข้าห้องน้ำให้ดี อย่าอั้นปัสสาวะค่ะ


7. อาการท้องอืด


เช่นเดิมจากการทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ คุณอาจมีอาการท้องอืดได้ เนื่องจากลำไส้ทำงานลดลง รวมถึงอาจมีอาการท้องผูกร่วมด้วยได้ ช่วงนี้คุณควรเลือกทานอาหารที่ย่อยง่าย และมีกากใยอาหารสูง


8. อาการคลื่นไส้อาเจียน


คุณอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนในช่วง 4-6 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ จากการทำงานของฮอร์โมน HCG และอาจมีเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ สาเหตุที่แน่ชัดยังไม่สามารถอธิบายได้ หากคุณมีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก อาจทานอาหารที่มีรสเค็มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงเช้า เพื่อลดอาการ ถ้ามีอาการมากควรไปปรึกษาแพทย์


9. อารมณ์แปรปรวน


ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณจะสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน เพิ่มขึ้น ทำให้คุณมีอารมณ์ที่แปรปรวน ไม่แตกต่างจากช่วงที่คุณมีประจำเดือน ซึ่งภาวะอารมณ์นี้มามีได้ตั้งแต่ หงุดหงิด กังวล เครียด หรือ ซึมเศร้า หากคุณมีอาการ เครียด หรือ ซึมเศร้า ควรหาวิธีการลดความเครียดที่เหมาะกับคุณ (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ความเครียด)


หากคุณมีอาการที่สงสัยว่าอาจอาจตั้งครรภ์ อย่าลืมรีบตรวจเพื่อยืนยันนะคะ เพราะ ไม่มีอาการไหนที่จะบอกว่าคุณตั้งครรภ์ได้ นอกจากการตรวจค่ะ



อาการว่าคุณอาจจะท้อง

📌 วิตามินบำรุงก่อนท้อง/ วิตามินบำรุงครรภ์/ วิตามินบำรุงหลังคลอด/ ของใช้แม่และเด็ก/ ของเล่นเสริมพัฒนาการ






แล้วมาติดตามกันใหม่ในบทความถัดไปค่ะ


เขียนโดย


Tantawan Jomkwanjai. MD (พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ) drnoithefamily


#อาการคนท้อง #อาการคนท้อง1เดือน #อาการคนท้องไม่รู้ตัว #อาการคนท้องเริ่มเมื่อไหร่ #อาการคนท้องเดือนแรก #อาการคนท้องสัปดาห์แรก #อาการแพ้ท้อง


Comments


bottom of page