top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

เจ็บครรภ์จริง กับ เจ็บครรภ์หลอกต่างกันอย่างไร? (False labor pain and True labor pain)

อัปเดตเมื่อ 9 ธ.ค. 2566

ในช่วงโค้งสุดท้ายของการตั้งครรภ์ แม่ๆ หลายคนอาจเริ่มมีอาการท้องแข็ง หรือ ปวดท้อง บางครั้งอาจเป็นแค่อาการเจ็บครรภ์เตือนซึ่งไม่นานก็หายไปเอง แต่หลายคนยังสับสนระหว่าง อาการเจ็บครรภ์เตือน (False labor pain) กับ เจ็บครรภ์คลอดจริง (True labor pain) ว่าจะแยกจากกันอย่างไร? วันนี้หมอหน่อยมีความรู้เรื่องนี้มาฝากแม่ๆ ค่ะ


อาการท้องแข็ง หรืออาการเจ็บครรภ์ สามารถเกิดขึ้นได้เสมอในช่วงตั้งครรภ์ บางครั้งก็เป็นแค่การเจ็บครรภ์เตือน (False labor pain) เป็นการหดรัดตัวของมดลูก หรือที่เราเรียกว่า Braxton-Hicks contraction ซึ่งเกิดจากการฝึกหดรัดตัวของมดลูก แล้วรูปแบบของอาการท้องแข็ง หรือ การเจ็บครรภ์มีอะไรบ้าง?


อาการท้องแข็งจากการหดรัดตัวของมดลูก หรือ Braxton-Hicks Contraction


Braxton-Hicks contraction หรือที่เราเรียกกันว่าเจ็บครรภ์หลอก หรือเจ็บครรภ์เตือน เกิดจากการที่มดลูกมีการฝึกหดรัดตัวเพื่อเตรียมพร้อมในการคลอด ซึ่งมักจะเริ่มมีอาการในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ เชื่อกันว่าคนที่มดลูกมีการฝึกหดรัดตัวบ่อยๆ จะคลอดง่ายกว่าคนที่ไม่ค่อยมี Braxton-Hicks Contraction


อย่างไรก็ตาม Braxton-Hicks Contraction ไม่ได้บอกว่าคุณแม่ใกล้คลอดแล้วนะคะ เพราะสาเหตุเกิดจากการฝึกการบีบรัดตัวของมดลูกเท่านั้น ไม่ได้เป็นสัญญาณบอกว่าใกล้คลอดแต่อย่างใด


อาการของ Braxton-Hicks contraction


โดยส่วนใหญ่อาการของการหดรัดตัวของมดลูกจะประกอบไปด้วย

  • มักจะปวดแค่บริเวณท้องน้อย

  • อาการไม่สม่ำเสมอ เวลาไม่แน่นอน

  • ระยะห่างของอาการไม่ถี่ขึ้น อาจเป็นทุกๆ 15-20 นาที

  • ความรุนแรงของอาการไม่เพิ่มขึ้น มักจะเจ็บเท่าๆ เดิม

  • ไม่มีอาการอื่นๆ เช่น ไม่มีมูกเลือด ไม่มีน้ำเดิน

  • อาการมักจะหายไปเอง หลังการเปลี่ยนท่าทาง หรือนอนพัก

  • ไม่ทำให้ปากมดลูกขยาย เมื่อตรวจปากมดลูกโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

ถ้ามีอาการท้องหดเกร็งต้องทำอย่างไร?


โดยส่วนใหญ่อาการเจ็บครรภ์หลอกจะหายไปเองไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเติม โดยคำแนะนำคือ

  • ลองเปลี่ยนท่า เช่นเดินไปมา หรือนอนพัก

  • ถ้าทำงานหนักอยู่ให้ลองหยุดทำงาน

  • ลองดื่มน้ำหรือทานอาหารว่าง

  • สังเกตดูอาการเจ็บครรภ์ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ หรือมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่

อาการเจ็บครรภ์จริง (True labor pain)


อาการเจ็บครรภ์จริงจะเกิดหลังจากที่ร่างกายหลั่งสาร Oxytocin มาทำให้มดลูกมีการหดรัดตัว เมื่อสาร Oxytocin ทำงานจะมีการหดรัดตัวของมดลูกจากทางด้านบนลงมาเพื่อให้ลูกสามารถออกมาทางช่องคลอดได้ และจะทำให้ปากมดลูกเริ่มเปิดและบางลง จากนั้นจะเข้าสู่กลไกการคลอด โดยส่วนใหญ่อาจเริ่มมีอาการหลัง 37 สัปดาห์ ถ้ามีอาหารเจ็บครรภ์คลอดก่อน 37 สัปดาห์จะถือว่า คลอดก่อนกำหนด


ลักษณะของการเจ็บครรภ์คลอดจริง แม่ๆ จะรู้สึกว่ามันจะมาเป็น wave คือ ค่อยๆ ปวดมากขึ้น จนสูงสุด แล้วค่อยๆดีขึ้น เหมือนการขึ้นภูเขาและลงภูเขา โดยถ้าจับบริเวณยอดมดลูกจะรู้สึกเหมือนภูเขาแข็งขึ้น แล้วค่อยๆ คลายตัว


โดยอาการของการเจ็บครรภ์คลอดจริง ที่แม่ๆ สามารถสังเกตุได้คือ

  • จะมีอาการปวดหลังบริเวณบั้นเอวร้าวมาบริเวณหน้าท้อง

  • อาการปวดจะสม่ำเสมอ และระยะเวลาจะสั้นขึ้นเรื่อยๆ เช่นจากทุกๆ 30 นาที เป็น 20 นาที เป็น 10 นาที

  • ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย เช่นจากเดิมเจ็บครั้งละ 10-15 วินาที เพิ่มเป็น 45-50 วินาที

  • มีมูกปนเลือด หรือ “bloody show”

  • อาจรู้สึกว่าลูกเริ่มลงไปในอุ้งเชิงกราน

  • อาจมีน้ำเดิน ซึ่งเกิดจากการที่ ถุงน้ำคร่ำแตก

  • อาจมีอาการท้องเสีย หรือถ่ายบ่อยขึ้น เนื่องจากมีการหลั่งของ Prostaglandin เชื่อว่าเกิดจากการที่ร่างกายต้องการให้ลำไส้ว่าง เพื่อให้การบีบรัดของมดลูกดีขึ้น

  • ปากมดลูกเปิด จากการตรวจด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

อาการที่บ่งบอกว่าเค้าสู่ระยะคลอดแล้วคือ มีอาการหดรัดตัวของมดลูก 4 ครั้งใน 20 นาที หรือ 8 ครั้งใน 1 ชั่วโมง ร่วมกับมีการเปิดของปากมดลูกอย่างน้อย 1 เซนติเมตร และบางตัวมากกว่า 80%

ถ้ามีอาการเจ็บครรภ์คลอดจริงต้องทำอย่างไร?


หากแม่ๆ มีอาการเจ็บครรภ์คลอดจริงเหมือนที่หมอหน่อยกล่าวมาในข้างต้น โดยเฉพาะถ้าความถี่ในแต่ละครั้ง น้อยกว่า15-10 นาที จึงเวลาแล้วที่คุณแม่ควรเริ่มเก็บกระเป๋าไปโรงพยาบาลค่ะ สิ่งที่แนะนำให้แม่ๆ ทำคือ

  • โทรติดต่อไปที่โรงพยาบาลที่ฝากท้อง เพื่อเล่าอาการและปรึกษาเพิ่มเติม ซึ่งทางโรงพยาบาลจะได้เตรียมพร้อมรับคุณแม่เข้าโรงพยาบาล

  • อาบน้ำ สระผมให้พร้อม

  • ตัดเล็บ ล้างน้ำยาทาเล็บออก

  • เตรียมเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน ใบประกัน ให้พร้อม

  • เตรียมเดินทางไปโรงพยาบาลพร้อมกระเป๋าเตรียมคลอดที่เตรียมไว้

หลังจากนั้น หมอหน่อยก็ขอให้แม่ๆ ทุกคนโชคดี ได้ต้อนรับเจ้าตัวเล็กที่แข็งแรงและสมบูรณ์ค่ะ


นี่ก็จะเป็นหลักการและเทคนิคคร่าวๆ ในการแยกระหว่างอาการเจ็บครรภ์เตือน กับอาการเจ็บครรภ์จริง ให้แม่ๆ ได้นำไปสังเกตตัวเองได้นะคะ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับแม่ๆ ค่ะ





เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD) Dr. Noi The Family


#เจ็บครรภ์เตือนคือ #เจ็บครรภ์หลอกคือ #เจ็บครรภ์คลอดเป็นแบบไหน #อาการเจ็บครรภ์เตือน #อาการเจ็บครรภ์หลอก #จะรู้ได้อย่างไรว่าเจ็บครรภ์จริงหรือเจ็บครรภ์หลอก








ดู 11,182 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page