top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

วิตามินบำรุงไข่ อัพเดต 2024 บำรุงไข่ยังไงให้ได้ไข่ที่มีคุณภาพของการตั้งครรภ์ (Fertility Supplements for Women)

อัปเดตเมื่อ 5 วันที่ผ่านมา

หมอหน่อยไม่ได้อัพเดตความรู้เรื่องการบำรุงก่อนมีน้องนานแล้วนะคะ หลังจากที่ไปเลี้ยงลูกอยู่นาน แต่ปีหน้า หมอหน่อยจะเริ่มวางแผนมีน้องให้อันนา ตอนนี้เลยกลับมาหาข้อมูล และมาอัพเดตความรู้เกี่ยวกับวิตามินบำรุงดีๆ ที่มีข้อมูลในช่วงปี 2024 มาฝากทุกท่านค่ะ


แม้ว่าเราจะรู้ว่า การดูแลสุขภาพ และการปรับพฤติกรรม การทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนให้เพียงพอ จะดีที่สุด แต่ต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถทานสารอาหารที่จำเป็นได้เพียงพอ จากอาหารที่เราทานให้แต่ละวัน การทานอาหารเสริมจึงเข้ามาเป็นตัวช่วยที่จะเติมเต็มสารอาหารที่เราต้องการ


แต่เนื่องจาก มีวิตามินมากมายในท้องตลาด เราจะเลือกวิตามินให้เหมาะกับการบำรุงไข่อย่างไรดี? จริงๆ แล้วเราต้องดูเป้าหมายของการบำรุง เพื่อเลือกกลุ่มวิตามินให้ตรงความต้องการค่ะ เป้าหมายของการบำรุงในช่วงก่อนตั้งครรภ์คือ


  • เพิ่มคุณภาพให้เซลล์ไข่ (Egg quality)

  • ปรับสมดุลของฮอร์โมน (Balancing hormones)

  • เพิ่มโอกาสการฝังตัวของตัวอ่อน (Improve embryo implantation odds)

  • Support การตั้งครรภ์และการเติบโตของตัวอ่อน (Pregnancy and fetal support)


ใครควรต้องบำรุงก่อนตั้งครรภ์บ้าง?


จริงๆ แล้วต้องตอบว่า ผู้หญิงทุกคนที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ ควรเริ่มบำรุงก่อนมีลูกค่ะ ส่วนหนึ่งมาจากว่าจะสามารถลดความผิดปกติ ที่อาจเกิดขึ้นกับทารกได้ นอกจากนี้พบว่าสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ทั้งอาหารการกิน อาการ ความเครียด เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงมีลูกยากขึ้น มีคุณภาพไข่ที่แย่ลง ดังนั้น ควรเริ่มบำรุงทันที่ ที่วางแผลอยากจะมีลูกค่ะ


สำหรับคนที่มีปัญหามีบุตรยาก หรือกำลังเข้ากระบวนการรักษา การบำรุงด้วยวิตามิน ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากจะเพิ่มโอกาสความสำเร็จมากขึ้นค่ะ


ควรต้องบำรุงนานแค่ไหน?


การบำรุงเพื่อให้เกิดผลนั้น ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 เดือนค่ะ เนื่องจาก ไข่จะเริ่มพัฒนา เจริญเติบโต ก่อนการตกประมาณ 90 วัน ดังนั้น การบำรุงในตอนนี้ จะไปส่งผลต่อไข่ในอีก 3 เดือนข้างหน้าค่ะ อย่างไรก็ตาม สารอาหารที่เข้าไป อาจส่งผลต่อไข่ที่กำลังเติบโตและกำลังจะตกได้ในบางส่วน


อย่างไรก็ตาม พื้นฐานปัญหาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น บางคนมีภาวะซีด วิตามินดีต่ำ อาจต้องใช้เวลาเพื่อปรับสมดุลนานกว่านั้น และที่สำคัญ สารอาหารที่ทานเข้าไป ควรเพียงพอในช่วงตัวอ่อนฝังตัว และช่วงเจริญเติบโตในช่วงแรกค่ะ


หากสรุปสั้นคือ ควรบำรุงอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตลอดการเตรียมมีลูก ไปตลอดการตั้งครรภ์ และตลอดการให้นมเลยค่ะ


สารอาหารไหนบ้างที่สำคัญในช่วงเตรียมมีลูก?


  • Vitamin D

  • CoQ10

  • Inositol

  • Omega 3s

  • PQQ

  • Iron

  • Choline

  • Folate

  • Iodine

  • Vitamin E

  • Arginine


Vitamin D


เนื่องจากวิตามินดีมีความสำคัญต่อการทำงานต่างๆของร่างกาย ทั้งยังมีงานวิจัยหลายงานวิจัยศึกษาพบความสัมพันธ์ของระดับวิตามินที่ปกติกับการเพิ่มขึ้นของโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์


วิตามินดีมีความสำคัญต่อการทำงานต่างของฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเติบโตของไข่ และการตกไข่ นอกจากนี้ยังพบวิตามินดีใน Follicular fluid ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาและเติบโตของไข่ ทั้งยังพบว่าคนที่มีระดับวิตามินดีที่ปกติ มีโอกาสประสบความสำเร็จในการทำ IVF มากกว่าคนที่มีวิตามินดีต่ำ นอกจากนี้ยังพบว่าหญิงที่มีระดับวิตามินมากกว่าหรือเท่ากับ 30 ng/mL มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่มีวิตามินดีต่ำมากขึ้นถึง 4 เท่า


ในหญิงที่มีปัญหา PCOS หรือถุงน้ำรังไข่ จะมีภาวะขาดวิตามินดีมากกว่าคนทั่วไป พบว่าการให้วิตามินดีเสริมจะเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำเร็จเพิ่มขึ้นถึง 40%


นอกจากนี้วิตามินดียังมีความสำคัญต่อเนื่องไปตลอดช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากช่วยในการพัฒนาเติบโตของทารกในครรภ์ และการทำงานต่างๆของมารดา คนที่มีภาวะขาดวิตามินดี จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำเนิด เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ดังนั้นในช่วงการตั้งครรภ์จึงควรได้รับวิตามินดีอย่างเพียงพอ


CoQ10


Coenzyme Q10 (commonly called CoQ10) มีความสำคัญต่อการสร้างพลังงานในไมโตคอนเดรีย ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างพลังงานของเซลล์ไข่ นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกับเซลล์ไข่ด้วย CoQ10 ร่างกายสามารถสร้างได้แต่จะสร้างน้อยลงตามอายุที่มากขึ้น มีการศึกษาพบว่า CoQ10 เพิ่มโอกาส

  • เพิ่มจำนวนไข่ และคุณภาพไข่ ในช่วงเก็บไข่ในกระบวนการทำ IVF

  • เพิ่มจำนวน Embryo ที่มีคุณภาพ

  • เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์


มีอาการศึกษาหนึ่ง ศึกษาหญิง 169 คน ที่อยู่ในกระบวนการทำ IVF แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก ทาน CoQ10 600 mg เป็นเวลา 3 เดือน อีกกลุ่มไม่ได้ทาน พบว่า คนที่ทาน CoQ10 มี  fertilization rates 67% เทียบกับคนที่ไม่ได้ทำคือ 45% ดังนั้น CoQ10 จึงเป็นหนึ่งในตัวสำคัญที่ช่วยบำรุงไข่ค่ะ (อ่านต่อเรื่อง CoQ10)



Inositol


Inositol หรือ Myo-inositol ช่วยในการ Balance ระดับน้ำตาลและฮอร์โมน ซึ่งมีผลสำคัญต่อคนที่กำลังวางแผนมีลูก และกลุ่ม PCOS ตัว Inositol ช่วยในการทำงานของ Insulin ซึ่งพบว่าคนที่เป็น PCOS จะมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ส่งผลให้ไข่ไม่ตก ซึ่ง Inositol จะช่วยปรับการทำงานให้เซลล์ไวต่ออินซูลินมากขึ้น ภาวะดื้อต่ออินซูลินลดลง ส่งผลให้ไข่กลับมาตก และเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์มากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า Inositol เพิ่มโอกาสให้สำเร็จในการทำ IVF เพิ่มขึ้นอีกด้วย (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง Inositol)


Omega 3


Omega-3 fatty acids เป็นตัวหลักในการสร้างฮอร์โมนเพศ เนื่องจากเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการสร้างฮอร์โมน ดังนั้นจึงมีความสำคัญต่อระบบสืพันธ์ุ omega-3 จะประกอบด้วย EPA ที่มีความสำคัญในการลดการอักเสบซึ่งมีผลดีต่อการพัฒนาของเซลล์ไข่ และ DHA ที่มีผลต่อการทำงานของฮอร์โมน ซึ่งพบว่าคนที่ขาด Omega-3 มีโอกาสเกิดภาวะมีบุตรยากได้มากกว่าคนที่กิน Omega-3 ได้เพียงพอ นอกจากนี้ยังพบว่าการกิน Omega-3 ทำให้ระดับฮอร์โมน FHS สูงขึ้นซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของไข่ และ Omega-3 มีผลมากขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 35 ซึ่งงานวิจัยพบว่า คนที่ทาน Omega-3 เพียงพอมีระบบสืบพันธุ์ที่ดีกว่า ในช่วงอายุที่มากกว่า 35 ปีขึ้นไป โดยขนาด Omega-3 ที่แนะนำคือ DHA 225-500 มิลลิกรัมต่อวัน และ EPA 200-500 มิลลิกรัมต่อวัน


PQQ


Pyrroloquinoline quinone (PQQ) มีความสำคัญในกระบวนการสร้าง mitochondia หรือ mitochondria biogenesis เมื่อไมโตคอนเดรียเพิ่มขึ้น พลังงานของเซลล์ก็เพิ่มขึ้น เนื่องจากเซลล์สามารถเผาผลาญสารอาหารไปใช้ได้มากขึ้น การที่จำนวน mitochondia เพิ่มขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพของไข่ นอกจากนี้ PQQ ยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีมากๆ ต่อเซลล์ ลด free radicals ที่มีผลเสียต่อเซลล์ได้ โดนส่วนใหญ่จะแนะนำให้ทาน PQQ ร่วมกับ CoQ10 เพื่อช่วยให้การทำงานของ mitochondria ดีขึ้น และเกิดการซ่อมแซมของเซลล์


Iron (ธาตุเหล็ก)


ธาตุเหล็กมีความสำคัญในการสร้าง Hemoglobin ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในเม็ดเลือดแดง และ Hemoglobin ก็ช่วยนำ Oxygen ไปเลี้ยงส่วนต่างๆของเซลล์รวมถึงเซลล์ไข่ด้วย นอกจากนี้ธาตุเหล็กยังช่วยในการสร้าง DNA และ RNA ช่วยในการเติบโตของเซลล์ไข่ จากการศึกษาพบว่าคนที่ทานธาตุเหล็กเสริม 40% ตั้งท้องได้ง่ายกว่าคนที่ไม่ได้ทานธาตุเหล็กเสริมโดยขนาดธาตุเหล็กที่ใช้ในการศึกษาคือ  40-60 มิลลิกรัมต่อวัน แต่หากสามารถทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเสริมได้ โดยเฉพาะธาตุเหล็กจากพืช อาจทานธาตุเหล็กเพิ่มประมาณ 18-27 มิลลิกรัมต่อวัน


Folate


Folic acid หรือ Folate คือวิตามินบี 9 ซึ่งความสำคัญของ Folic acid ในระบบสืบพันธุ์คือ Folic acid ช่วยในการสร้าง DNA และ RNA มีส่วนสำคัญในการสร้างกรดอมิโนที่จำเป็นต่างๆ และมีความสำคัญในการแบ่งเซลล์ โดยมีการศึกษาพบว่าคนที่ทาน Folic acid 700-800 ไมโครกรัมต่อวันมีลูกง่ายกว่าคนที่ทาน Folic acid น้อยกว่า 300 ไมโคกรัมต่อวันถึง 50% โดยขนาดที่แนะนำของ Folic acid ต่อวันคือ 800 ไมโครกรัมต่อวัน นอกจาก Folic acid จะช่วยป้องกันความผิดปกติของทารกในครรภ์ การทาน Folic acid ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ยังช่วยลดปัญหามีบุตรยากได้อีกด้วย


มีการศึกษาพบว่า หญิงที่มีระดับโฟเลตสูงกว่า มีโอกาสตั้งครรภ์ปกติสูงมากกว่าคนที่มีโฟเลตต่ำถึง 162% นอกจากนี้คนที่มีระดับโฟเลตสูงกว่า ยังมีโอกาสที่ตัวอ่อนจะฝังตัวได้ดีกว่าอีกด้วย



Choline


โคลีน มีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์ ช่วยในการสร้างเซลล์ต่างๆ การสร้างระบบประสาท และสมอง พบว่ากว่า 90% ของคนทั่วไป ทานโคลีนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ปัจจุบันพบว่าโคลีน มีความสำคัญพอๆ กับโฟเลต ในการช่วยป้องกันความผิดปกติของระบบประสาทและสมอง นอกจากนี้ เช่นเดียวกับโฟเลต โคลีนช่วยให้เพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ และมีความสำคัญในการสร้างรกในระยะแรก ดังนั้น ควรเริ่มทานโคลีนตั้งแต่ยังไม่ตั้งครรภ์ เรื่อยๆ ไปตลอดการตั้งครรภ์ และการให้นมบุตร ปกติเรามักจะทานโคลีนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ควรมองหาโคลีนเสริมด้วยเสมอค่ะ


Iodine


ไอโอดีน มีความสำคัญต่อกระบวนการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย การพัฒนาของสมอง ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังพบว่า การทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ที่ผิดปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้ มีการศึกษาพบว่า คนที่มีระดับไทรอยด์ต่ำ มีลูกยากขึ้นถึง 46% เทียบกับคนที่มีระดับไทรอยด์ปกติ ดังนั้น ควรให้ความสำคัญต่อการเสริมไอโอดีนให้เพียงพอค่ะ


Vitamin E


Vitamin E เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ เป็นวิตามินที่ร่างกายไม่สามารถสร้างได้ ต้องได้จากการทานเข้าไป วิตามินอี มีความสำคัญต่อการสร้างสารที่มีชื่อว่า prostaglandins ที่สำคัญต่อการสร้างฮอร์โมนหลายชนิด โดยเฉพาะ Prolactin ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบสืบพันธ์ุของเพศหญิง นอกจากนี้ยังพบว่า วิตามินอีช่วยให้ผนังของมดลูกมีความหนาตัวขึ้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสสำเร็จในการฝังตัวของตัวอ่อน นอกจากนี้ วิตามินอียังมีบทบาทในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) โดยควรทานวิตามินอีให้เพียงพอ ประมาณ 15 มิลลิกรัมต่อวัน หรือมากกว่านี้เล็กน้อยในช่วงตั้งครรภ์ และช่วงให้นม


Arginine


L-arginine เป็น amino acid ที่ช่วยในการสร้างโปรตีนและสร้าง nitric oxide (NO) ที่มีความสำคัญในการยืดขยายของหลอดเลือด สำหรับผู้หญิง Arginine ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงที่มดลูกมากขึ้น ช่วยให้ผนังมดลูกมีความหนาตัวมากขึ้น ทำให้เพิ่มโอกาสในการฝังตัวของตัวอ่อนมากขึ้น พบว่า การเพิ่มความหนาของผนังมดลูก หลักๆ คือ โปรตีน วิตามินอี และ Arginine


การเลือกวิตามิน ควรเลือกให้เหมาะกับความต้องการ และความเหมาะสมของแต่ละคน ในบทความหน้า เดี๋ยวหมอหน่อยจะมาแนะนำเพิ่มเติมนะคะ


หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์นะคะ


เขียนโดย


พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)





 



Comments


bottom of page