top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

เทคนิคนับลูกดิ้น นับลูกดิ้นอย่างไร ให้รู้ว่าลูกปลอดภัยดี (Fetal count kick)

อัปเดตเมื่อ 9 ธ.ค. 2566

แม่ๆ หลายคนคงรู้สึกว่าลูกเริ่มดิ้นแล้วนะคะ (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ลูกเริ่มดิ้นเมื่อไหร่? รู้สึกอย่างไร?) พออายุครรภ์มากขึ้น การดิ้นของลูกอาจเป็นตัวช่วยหนึ่งที่สำคัญมากๆ ที่จะบอกได้ว่า ตอนนี้ลูกน้อยยังมีสุขภาพแข็งแรงดีอยู่หรือไม่ แล้วการนับลูกดิ้นมีความสำคัญอย่างไร? นับลูกดิ้นยังไง? ต้องเริ่มนับลูกดิ้นเมื่อไหร่? บทความนี้มีคำตอบให้แม่ๆ ค่ะ


ในช่วงแรกที่ลูกน้อยดิ้นคุณแม่คงตื่นเต้นไม่น้อย แม่ๆ ส่วนใหญ่จะเริ่มรู้สึกลูกดิ้นในช่วง 16-22 สัปดาห์ หรือในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งไตรมาสนี้คุณแม่อาจไม่จำเป็นต้องนับลูกดิ้นค่ะ


พอเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะเริ่มเรียนรู้รูปแบบการดิ้นของลูกตัวเอง บางคนอาจดิ้นมากช่วงเช้า บางคนอาจดิ้นมากช่วงบ่าย บางครั้งอาจเห็นการขยับตัวของลูกผ่านทางหน้าท้องได้ แต่พอลูกโตขึ้น อาจไม่ค่อยมีพื้นที่ให้เค้าขยับมากนัก โดยเฉพาะในอายุครรภ์มากๆ ทำให้แม่ๆ หลายคนอาจรู้สึกว่าลูกดิ้น หรือขยับตัวลดลงทำให้การนับลูกดิ้นเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น เพราะการดิ้นของลูกเป็น Indicator หนึ่งที่ช่วยบอกได้ว่า ตอนนี้ลูกน้อย ของแม่ๆ ยังแข็งแรงดีอยูหรือไม่


เทคนิคการนับลูกดิ้น

  1. เริ่มนับลูกดิ้นตั้งแต่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์ หรือ 34 สัปดาห์ในคนที่มีความเสี่ยงน้อย

  2. นับลูกดิ้น 1-2 ครั้งต่อวัน โดยอาจทำช่วงเช้า และช่วงเย็น

  3. จับเวลานับลูกดิ้นประมาณ 30-60 นาที และสามารถขยายเพิ่มขึ้นได้ถึง 2 ชั่วโมง

  4. เริ่มนับลูกดิ้น โดยนับทุกการขยับเป็น 1 ครั้ง ช่น ถีบ หมุนตัว ขยับตัว เป็นต้น

  5. หากลูกดิ้นครบ 10 ครั้ง สามารถหยุดการนับลูกดิ้นได้

  6. หากใน 1 ชั่วโมงลูกยังดิ้นไม่ถึง 10 ครั้ง ให้เปลี่ยนอริยาบท กินอาหาร หรือนอนตะแคงซ้าย แล้วนับต่ออีก 1 ชั่วโมง จนครบ 10 ครั้ง ถ้าครบ 10 ครั้งถือว่ายังปกติดี บางคำแนะนำสามารถนับต่อเนื่องได้ถึง 12 ชั่วโมง หากยังดิ้นไม่ถึง 10 ครั้งใน 12 ชั่วโมง อาจต้องติดต่อแพทย์ เพื่อตรวจเช็คสุขภาพของลูกเพิ่มเติม

  7. ในช่วง 36 สัปดาห์ขึ้นไป แนะนำให้นับลูกดิ้น อย่างน้อย 2 ครั้งต่อวันค่ะ


เทคนิคนับลูกดิ้น นับลูกดิ้นอย่างไร

ลูกดิ้นน้อยลงเกิดจากสาเหตุไหนได้บ้าง?


ในช่วงเดือนท้ายๆ ลูกมีพื้นที่ให้ขยับตัวลดลง ทำให้แม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลงได้ แต่หากนับลูกดิ้นไม่ผ่าน หรือลูกดิ้นน้อยลงชัดเจน สาเหตุที่อาจทำให้ลูกดิ้นน้อยลงคือ

  • ช่วงใกล้คลอดหรือเกินกำหนดคลอด รกจะเสื่อมสภาพไปตามอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้น อาหารและออกซิเจนที่ส่งผ่านรกไปยังลูกในครรภ์จะมีปริมาณน้อยลง อาจเป็นสาเหตุทำให้ลูกดิ้นน้อยลงก็ได้ ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายที่คุณแม่จะต้องไปพบหมอในทันที

  • การดิ้นที่น้อยลงอย่างผิดปกติของทารกในครรภ์ มักเกิดร่วมกับภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรังและอยู่ในภาวะอันตราย โดยทารกจะดิ้นน้อยลงหรือหยุดดิ้นเป็นเวลา 12-48 ชั่วโมงก่อนที่จะเสียชีวิต

  • อาจมีรกพันบริเวณคอของทารกทำให้ทารกขาดออกซิเจน หรือ เสียชีวิตในครรภ์

โดยแนะนำให้คุณแม่ ปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม โดยแพทย์อาจมีการตรวจโดยใช้เครื่อง Nonstress test (NST) เพื่อดูการเต้นของหัวใจทารก หรือการทำ อุลตร้าซาวด์เพื่อดูการเคลื่อนไหวของทารก หรือดูความผิดปกติอื่นๆ ต่อไป


เทคนิคทำให้ลูกดิ้น


กรณีที่ลูกน้อยไม่ค่อยขยับ คุณแม่อาจลองใช้เทคนิคบางอย่างกระตุ้นให้ตัวเล็กขยับมากขึ้นได้ เช่น

  • กินอาหารว่าง หรือดื่มน้ำผลไม้

  • ลุกขึ้นเดินไปมา

  • ส่องไฟฉายไปที่หน้าท้อง

  • นอนตะแคงซ้าย

  • พูดคุยกับลูก

  • เขย่าท้องเบาๆ

สำหรับใครที่ต้องการตัวช่วยในการนับลูกดิ้น สามารถใช้แอพพลิเคชั่นช่วยนับลูกดิ้น แบบที่หมอหน่อยเคยมีการแนะนำมาก่อนหน้านี้ได้นะคะ (6 แอพสำหรับคนท้อง)






หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับแม่ๆ นะคะ แล้วมาติดตามบทความดีๆ จากหมอหน่อยได้ใหม่ค่ะ


เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD) Dr. Noi The Family


#เทคนิคนับลูกดิ้น #นับลูกดิ้น #นับลูกดิ้นอย่างไร




ดู 17,809 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page