หมอหน่อยคิดว่า การมีลูกหนึ่งคน ไม่ใช่แค่ผลตรวจการตั้งครรภ์ Positive แล้วเราก็คลอดลูกออกมาก็จบ การมีลูกหนึ่งคน เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในครอบครัว โดยเฉพาะ การเงินของครอบครัว เพราะค่าใช้จ่ายต่อลูกหนึ่งคน อาจมากจนคุณคาดไม่ถึงและทำให้มีปัญหาทางการเงินได้ การวางแผนการเงินที่ดี จะทำให้การมีลูกของคุณครั้งนี้ ไร้ความกังวลและมีความสุขค่ะ วันนี้หน่อยมีเทคนิคการวางแผนการเงินก่อนตั้งครรภ์ 8 ขั้นตอน มาแชร์กับเพื่อนๆค่ะ
หมอหน่อยขอแบ่งการวางแผนการเงินไว้ 2 หมวดใหญ่ๆ เพื่อให้เราจัดลำดับขั้นตอนง่ายๆ ในการวางแผนทางการเงินก่อนตั้งครรภ์ (Financial planing before pregnant) เป็น การเงินของครอบครัว และ การเงินเกี่ยวกับลูก นะคะ
การเงินของครอบครัว
1. ลดภาระหนี้ที่มีเท่าที่เท่าได้ (Pay off all your debt, as much as you can)
แน่นอนว่าถ้าคุณยังมีภาระหนี้จำนวนมากอยู่ อาจส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินของครอบครัว ด้วยรายจ่ายประจำที่ต้องชำระทุกเดือน และรายได้ที่ลดลงในช่วงที่แม่ต้องหยุดงานมาเลี้ยงดูลูก หากภาระหนี้ยังมากอยู่ คุณอาจจะไม่มีเงินเพียงพอให้การชำระหนี้ และกลายเป็นหนี้เสียในอนาคตได้
2. เก็บเงินสำรองให้เพียงพอ (Build an emergency fund)
การมีเงินสำรองที่เพียงพอ โดยเฉพาะในครอบครัวที่วางแผนจะให้คุณแม่หยุดงานเพื่อเลี้ยงลูกเป็นเวลานานๆ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก คุณควรมีเงินเผื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน ให้เพียงพอรายจ่ายต่อเดือนของครอบครัว อย่างน้อย 3 เดือน แต่ถ้าจะให้ปลอดภัย หน่อยแนะนำให้เก็บไว้อย่างน้อย 6 เดือนเลยค่ะ เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า จะเกิดปัญหาระหว่างตั้งครรภ์ทำให้เราต้องหยุดงานเป็นเวลานานๆ หรือไม่
3. วางแผนการเงินช่วงลาคลอด (Plan for unpaid leave)
ข้อนี้อาจมีความแตกต่างในงานของแต่ละคนนะคะ บางคนลาคลอดยังได้รับเงินเดือนปกติ แต่สำหรับหน่อยไม่มีสวัสดิการตรงนี้ หากไม่ทำงานก็คือไม่มีรายได้ แน่นอนว่า หน่อยต้องวางแผนการเงินในช่วงที่หน่อยลาคลอดแล้วไม่มีเงินเดือน โดยหน่อยจะคำนวนค่าใช้จ่ายจำเป็นที่ต้องใช้ต่อเดือน แล้วเก็บเงินจำนวนนั้นไว้ล่วงหน้า ทั้งหมด 4 เดือน เพื่อให้เราไม่ต้องกังวลช่วงหยุดงานมาดูแลลูกค่ะ
4. ประกันสุขภาพที่ครอบคลุมการคลอด (Review your health insurance)
เชื่อว่าหลายๆคน อาจวางแผนฝากครรภ์และคลอดตามสิทธ์ที่มี หรืออาจเก็บเงินไว้เพื่อใช้จ่ายตรงนี้ แต่สำหรับหน่อย กลับให้ความสำคัญกับการทำประกันสุขภาพมากๆค่ะ การที่เป็นหมอทำให้รู้ว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงตั้งท้อง ช่วงคลอด หรือหลังคลอด รวมถึงสุขภาพของลูกหลังคลอดอีก ความเป็นหมอทำให้หน่อยต้องระวังความเสี่ยงทุกอย่างค่ะ เพื่อนๆลองคิดดูนะคะ ถ้าเกิดการคลอดครั้งนี้มีปัญหา ต้องใช้เงินรักษาหลายแสนบาท การเงินของเพื่อนๆคงแย่แน่ๆ เพราะเราอาจไม่ได้เก็บเงินไว้เพียงพอ การทำประกันชีวิตจะสามารถป้องกันความเสี่ยงด้านนี้ได้เป็นอย่างดีค่ะ แต่การเลือกประกันก็สำคัญนะคะ ควรเลือกที่คุ้มครองช่วงที่คลอด และหลังคลอด ยิ่งถ้าประกันครอบคลุมลูกหลังคลอดด้วยยิ่งดีเลยค่ะ ประกันแบบนี้อาจมีราคาสูงหน่อย ประมาณ 80,000-120,000 บาทต่อปี แต่หากเพื่อนๆ ลองดูราคาค่าทำคลอดที่เอกชนทั่วไป ค่าทำคลอดก็อยู่ระหว่าง 90,000 -150,000 บาทแล้ว เท่ากับเรานำเงินเก็บค่าคลอดไปซื้อประกัน แต่ได้ความคุ้มครองที่มากกว่า ประกันที่ครอบคลุมการคลอดมักจะมีช่วงเวลารอคอย (Waiting period) ประมาณ 1 ปี ทำให้เราต้องวางแผนการซื้อให้ดี เพื่อให้สามารถครอบคลุมในช่วงที่เราคลอดพอดีค่ะ แต่หน่อยรับรองว่าการซื้อประกันสุขภาพ จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และทำให้เราสบายใจสุดๆ ไปเลยค่ะ
“การมีลูกหนึ่งคน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต โดยเฉพาะด้านการเงิน การเตรียมพร้อมทางด้านการเงิน เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่คุณไม่ควรลืม”
การเงินเกี่ยวกับลูก
5. วางแผนค่าใช้จ่ายช่วงก่อนคลอด และช่วงคลอด (Draft you pre-baby budget)
อันดับแรก เพื่อนๆ ต้อง List รายการ แล้วหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่เราต้องการว่ามีราคาประมาณเท่าไหร่ ซึ่งเพื่อนๆ จะทราบจำนวนเงินคร่าวๆ ที่ต้องเตรียมในครั้งนี้ รายการของต่างๆ เช่น
- ของใช้ของแม่ : เสื้อผ้าของหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงตามขนาดของครรภ์ เพื่อนๆควรหาข้อมูลเพื่อเตรียมเงินส่วนนี้ หรืออาจยืมคนรู้จักที่เคยมีอยู่ก่อนแล้วเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายค่ะ
- ของใช้ของลูก : เช่นเสื้อผ้า ขวดนม ที่นอน ที่เปลี่ยนผ้าอ้อม Car seat รถเข็นเด็ก เป็นต้น
- ค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ ซึ่งก็จะแตกต่างกัน ขึ้นกับการเลือกโรงพยาบาลที่เพื่อนๆชื่นชอบ
- ค่าใช้จ่ายในการคลอด ซึ่งราคาค่าทำคลอดก็ขึ้นกับการเลือกโรงพยาบาลเช่นกัน แต่หน่อยแนะนำให้เพื่อนๆ เตรียมกรณีต้องผ่าคลอดไว้เลย เพราะหากไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้ อาจต้องเปลี่ยนไปเป็นการผ่าคลอดแทนค่ะ
6. ค่าใช้จ่ายช่วงหลังคลอด (Draft you post-delivery budget)
เพื่อนๆ ควรลองคำนวนค่าใช้จ่ายในช่วงหลังคลอด โดยเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกที่คุณแม่อาจยังไม่ได้ทำงานไว้ก่อนคร่าวๆ เพื่อวางแผนเตรียมเงินส่วนนี้ไว้ให้พร้อมค่ะ ค่าใช้จ่ายหลังคลอดเช่น
- ค่าวัคซีนของลูก
- ค่าอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ของลูก เช่น เสื้อผ้า เครื่องทำความสะอาดขวดนม ค่าผ้าอ้อม ค่านมผง เป็นต้น
- ค่าประกันชีวิตของลูก ซึ่งโดยส่วนใหญ่ประกันของเด็กทารกมักจะมีราคาแพง ควรหาข้อมูลดีๆค่ะ
- ค่าของเล่นของลูก แน่นอนว่า พอเด็กเริ่มโต เราก็เริ่มอยากให้เค้ามีพัฒนาการที่ดี ของเล่นก็เป็นหนึ่งในค่าใช้จ่ายที่มีราคาสูง ซึ่งอาจต้องวางแผนเรื่องนี้เข้าไปด้วยค่ะ
7. วางแผนเรื่องการเลี้ยงดูเมื่อกลับไปทำงาน (Begin planing for child care)
ในส่วนนี้ อาจมีความแตกต่างของแต่ละคน หากเพื่อนๆ คนไหนมีคนทางบ้านมาช่วยเลี้ยงก็สบายใจไประดับหนึ่ง แต่หากว่าเราไม่มีคนมาช่วยเลี้ยงตอนไปทำงาน อาจต้องเตรียมค่าใช้จ่ายสำหรับพี่เลี้ยง หรือศูนย์รับเลี้ยงเด็กอ่อน ที่เราไว้วางใจ ซึ่งเพื่อนๆอาจจะต้องหาข้อมูลและเตรียมค่าใช้จ่ายส่วนนี้ล่วงหน้าค่ะ
8. เก็บเงินไว้เพื่อการศึกษาลูก (Save for his or her education)
เพื่อนๆ คงทราบดีว่าในปัจจุบัน ราคาค่าเทอมของเด็กๆ มีราคาแพงมากขึ้นกว่าอดีตมาก ดังนั้นเราควรเริ่มเก็บสะสมเงินส่วนนี้ไว้แต่เนิ่นๆ โดยอาจฝากในบัญชีพิเศษสำหรับลูก เพื่อการศึกษาของเค้าโดยเฉพาะ หน่อยขอยกตัวอย่างการวางแผนของหน่อย เผื่อจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆนะคะ
เช่น หน่อยตั้งใจอยากให้ลูกเข้าโรงเรียนที่มีคุณภาพใกล้บ้าน ค่าเทอมปีละ 200,000 บาท หน่อยตั้งใจจะเก็บก้อนนี้ให้ได้ภายใน 3 ปี หน่อยควรจะเก็บเดือนละ 5,600 บาทถึงจะได้เป้าหมายนี้ เป็นต้นค่ะ
8 วิธีนี้ เป็น 8 วิธีที่หน่อยคิดว่าจะช่วยให้เราสามารถวางแผนการเงินได้อย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจหาเวลานั่งคุยและวางแผนร่วมกัน เพื่อให้เราพร้อมที่จะดูแลลูกของเราให้ดีอย่างที่เราตั้งใจค่ะ เพื่อนๆ คนไหนมีวิธีการวางแผนการเงินอื่นๆ ที่น่าสนใจ สามารถแสดงความคิดเห็น หรือไปพูดคุยกันได้ใน Forum นะคะ ขอบคุณทุกคนที่ติดตามอ่านบทความของหน่อยค่ะ
📌 วิตามินบำรุงก่อนท้อง/ วิตามินบำรุงครรภ์/ วิตามินบำรุงหลังคลอด/ ของใช้แม่และเด็ก/ ของเล่นเสริมพัฒนาการ
#วางแผนการเงินก่อนตั้งครรภ์ #วางแผนมีลูก #วางแผนการเงินครอบครัว #วางแผนการเงิน #ค่าใช้จ่ายเมื่อมีลูก #ความรู้คุณแม่มือใหม่ #หากวางแผนมีลูกต้องรู้ #คุณแม่มือใหม่ #คุณพ่อมือใหม่ #เตรียมตัวก่อนท่อง #เตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์
By. Tantawan Prasopa. MD (พญ. ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily
Comentarios