เมื่อคุณแม่คุณพ่อ เริ่มฝึกให้ลูกทานอาหาร การให้ลูกได้ทดลองทานอาหารหลายๆ แบบ กลายเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นเรื่องหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ก็มีอาหารบางประเภท ที่ควรจะหลีกเลี่ยง ไม่ควรให้ลูกน้อยทาน โดยเฉพาะในช่วง 1 ปีแรก อาหารที่ไม่ควรให้ลูกทานมีอะไรบ้าง? วันนี้ไปติดตามกันค่ะ
1. น้ำผึ้ง (Honey)
ในน้ำผึ้งมีสปอร์ของแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า Clostridium Botulinum ซึ่งฤทธิ์ของมันก็เหมือน Botox ที่แม่ๆ ฉีดให้กล้ามเนื้อคลายตัว ทำให้ริ้วรอยดีขึ้นนั่นเอง เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี การทำงานของลำไส้จะยังไม่ดีพอ ทำให้ไม่สามารถทำลายสปอร์ของแบคทีเรียตัวนี้ได้ จึงอาจทำให้เกิดพิษ ที่เรียกว่า Infant Botulism เป็นพิษทางระบบประสาท อาจทำให้ กล้ามเนื้อต่างๆอ่อนแรง กล้ามเนื้อในการหายใจอ่อนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้
เมื่ออายุมากกว่า 1 ปี การทำงานของแบคทีเรียดีในลำไส้ดีขึ้น ทำให้สามารถที่จะช่วยกำจัดสปอร์ของแบคทีเรียตัวนี้ได้ จึงไม่เกิดพิษอีกต่อไป การไม่ให้เด็กทานน้ำผึ้งก่อน 1 ปี ไม่ใช่คำแนะนำ แต่เป็นกฎที่ต้องปฎิบัติตาม เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อยค่ะ
2. นมวัว (Cow's milk)
ในช่วงก่อนครบ 1 ขวบ ไม่ควรให้ลูกกินนมวัว(นมกล่อง) ด้วย 2 เหตุผลหลักๆ คือ
- ในนมวัว ไม่มีสารอาหารที่เพียงพอความต้องการของทารก โดยเฉพาะธาตุเหล็ก ซึ่งแตกต่างจาก นมแม่ และนมผง ที่ออกแบบมาสำหรับเด็กทารกโดยเฉพาะ
- ในนมวัว มีโครงสร้างโปรตีน ที่ยากต่อการย่อยในลำไส้ของเด็ก และทำให้ไตของเด็กทำงานหนักขึ้น
อย่างไรก็ตาม สามารถที่จะให้ลูกน้อยลองทาน โยเกิร์ตรสธรรมชาติ หรือ ซีสบางชนิดเมื่อลูกอายุมากกว่า 8 เดือนได้ แต่ต้องมั่นใจว่าลูกไม่ได้มีอาการของการแพ้นมวัวค่ะ
3. น้ำผลไม้หรือน้ำหวาน
น้ำผลไม้ มีส่วนผสมของน้ำตาลเป็นหลัก มีแคลอรี่ที่สูง แต่ไม่มีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับลูก นอกจากนี้ น้ำผลไม้ หรือน้ำหวาน อาจทำให้ลูกทานนมแม่ หรือนมผงลดลง ทานอาหารลดลง ซึ่งเป็นสารอาหารหลักของลูกในช่วง 1 ปีแรก นอกจากนี้ น้ำหวาน ยังอาจส่งผลให้ฟันผุ ท้องเสีย หรือ ลำไส้ทำงานไม่ปกติได้
The American Academy of Pediatrics (AAP) แนะนำไม่ให้น้ำหวานเด็กจนกว่าจะอายุ 1 ขวบ และแม้จะมากกว่า 1 ขวบก็ควรให้ทานแต่น้อย และไม่ควรให้ทานในตอนกลางคืน และไม่ควรในทานมากกว่า 4 ออนซ์ จนกว่าจะอายุ 3 ขวบ
4. ขนมหวาน หรือลูกอม
บรรดาขนมหวาน หรือลูกอม ไม่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อลูกน้อย ทั้งยังทำให้ลูกทานนม หรือ อาหารที่มีประโยชน์ลดลง นอกจากนี้ขนมบางอย่างเช่น Chocolate ก็มีส่วนผสมของคาเฟอีนที่ควรหลีกเลี่ยง และบรรดาลูกอม ก็เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการสำลักได้
อย่างไรก็ตาม ผลไม้บางชนิดที่มีรสหวานตามธรรมชาติ เช่น กล้วย มะละกอ ลูกน้อยก็สามารถทานได้ตามปกติ นอกจากจะได้รสหวานตามธรรมชาติแล้ว ยังได้วิตามินและเกลือแร่บางอย่างจากผลไม้ด้วยค่ะ
5. นมหรืออาหารที่ไม่ผ่านการพลาสเจอไรซ์
ควรหลีกเลี่ยงอาหารดิบ หรือนมที่ไม่ผ่านการพลาสเจอไรซ์ เนื่องจากอาจมีแบคทีเรียที่ก่อโรค ทำให้ลูกน้อยอาจติดเชื้อในกระแสโลหิต และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
6. อาหารที่ผ่านการแปลรูป หรือรมควันต่างๆ
อาหารที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม อาจมีส่วนผสมของ nitrates และมีส่วนผสมของเกลือมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้
7. ไข่ดิบ หรือไข่ไม่สุก
ไข่มีประโยชน์กับลูกน้อย ทั้งมี โปรตีน DHA และโคลีน ที่จำเป็นต่อการสร้างสมองของลูก แต่ควรทำไข่ให้สุกก่อนเสมอ เนื่องจากไข่ที่ไม่สุกหรือไข่ดิบมีเชื้อ Salmonella และแบคทีเรียอื่นๆ ที่อาจทำให้ลูกน้อยติดเชื้อ และเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้โปรตีนในไข่ที่ไม่สุก อาจส่งผลให้เกิดอาการแพ้ไข่ จากการแพ้โปรตีนได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
8. ปลาที่มีสารปรอทสูง
ปลาเป็นอาหารที่มีประโยชน์ต่อลูกน้อย ทั้งมีโปรตีน วิตามินดี วิตามินอี DHA แต่ควรเลือกปลาที่ไม่มีสารปรอท หรือมีในระดับที่ต่ำมากๆ ปลาที่ปลอดภัยคือ กลุ่มปลาแซลมอล ปลาทูน่า ควรหลีกเลี่ยงปลาตัวใหญ่มากๆ เช่นปลาฉลาม ซึ่งมีสารปรอทสูง
สารปรอท ส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาระบบประสาทของทารก จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคค่ะ
9. เกลือ หรืออาหารเค็ม
ทารกอายุ 7-12 เดือน ต้องการโซเดียม 0.37 กรัมต่อวัน ซึ่งจริงๆ มีเพียงพอ จากนมแม่ หรือนมผง นอกจากนี้ลูกยังอาจได้โซเดียมตามธรรมชาติจากอาหารที่ทานในแต่ละวัน ดังนั้น ในช่วงก่อน 1 ปีแรก ไม่ควรปรุงเกลือเพิ่มให้ลูก หรือไม่ควรทานอาหารหมักที่มีรสเค็ม เนื่องจากอาจส่งผลต่อการทำงานของไตได้
อาหารที่เสี่ยงที่จะทำให้ลูกสำลัก
ลูกมีโอกาสสำลักอาหารได้ง่าย โดยเฉพาะอาหารที่ไม่ละลายในปาก ไม่สามารถเคี้ยวด้วยเหงือได้ หรืออาหารที่สามารถหล่นเข้าไปในหลอดลมได้ง่าย อาหารที่อาจทำให้ลูกสำลักได้ง่าย เช่น
ลูกเกด
ถั่วลันเตาทั้งเม็ด
องุ่นทั้งเม็ด
ผัก ผลไม้ดิบ เช่น แครอท พลิกหยวก แอปเปิ้ลดิบ
เนื้อชิ้นใหญ่
ป๊อบคอร์น
Hot dogs
ลูกอม เป็นต้น
อาการที่ต้องอาศับการเคี้ยว เช่น Hog dogs ผลไม้ดิบ ป๊อบคอร์น ควรรอให้การเคี้ยวของลูกดีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ราวๆ อายุที่ 3-4 ขวบค่ะ
นี่เป็นอาหารที่คุณพ่อคุณแม่ควรต้องระวัง ไม่ควรให้ลูกๆ ทานก่อนวัยอันควรนะค้า ด้วยรักค่ะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)
Comentarios