ภาวะเบาหวานช่วงท้อง หรือ Gestational diabetes mellitus (GDM) เป็นภาวะครรภ์เสี่ยงที่พบได้บ่อยมากขึ้น เนื่องจากในปัจจุบัน แม่ๆ มีลูกช้าลง แล้ว ภาวะเบาหวานช่วงท้องคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ภาวะเบาหวานช่วงท้องตรวจเมื่อไหร่? และตรวจอย่างไร? วันนี้หมอหน่อยจะมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังนะคะ
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือ Gestational diabetes mellitus (GDM) หมายถึงโรคเบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกในขณะตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ จะหมายถึงโรคเบาหวานที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์โดยรวมถึงโรคเบาหวานหรือความทนต่อกลูโคสผิดปกติ (glucose intolerance) ที่เกิดขึ้นก่อนการตั้งครรภ์แต่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อน ความชุกของโรค เบาหวานขณะตั้งครรภ์พบได้ร้อยละ 1-14 ขึ้นกับเชื้อชาติและเกณฑ์ที่ใช้วินิจฉัย โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีผลกระทบต่อมารดาและทารก จึงต้องตรวจคัดกรองและให้การวินิจฉัยโรคเพื่อให้การดูแลรักษาที่เหมาะสม
เบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือ GDM เกิดจากอะไร?
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่พบว่าสัมพันธ์กับการสร้างฮอร์โมนบางชนิดในช่วงที่ตั้งครรภ์ คือ
human placental lactogen (hPL)
ฮอร์โมน ที่มีผลต่อการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน
ในช่วงท้อง ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์จะส่งผลให้เกิดภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยลดระดับน้ำตาล และควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย ในช่วงตั้งท้องร่างกายจะทำให้มีการดื้อต่ออินซูลินเล็กน้อย เพื่อให้มีน้ำตาลมากพอไปเลี้ยงทารก แต่สำหรับคนที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจมีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากจนมีระดับน้ำตาลที่สูงมากเกินไปในร่างกาย ส่งผลเสียต่างๆ ตามมา
ผลแทรกซ้อนของการเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
ภาวะครรภ์เป็นพิษ
การติดเชื้อของกรวยไต
การคลอดโดยการผ่าตัดทางหน้าท้อง (caesarian section)
เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเด็กตัวใหญ่ (macrosomia)
ทารกอาจมีภาวะน้ำตาลต่ำหลังคลอด
เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของมารดาจากการเกิดความดันโลหิตสูง การติดเชื้อ และการผ่าตัดคลอด
ใครมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบาหวานช่วงท้องบ้าง?
คนที่มีความเสี่ยงภาวะเบาหวานช่วงท้องคือ
อายุมารดามากกว่า 35 ปี
มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน
มีประวัติเคยเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
น้ำหนักเกินตั้งแต่ก่อนท้อง
น้ำหนักช่วงท้องขึ้นอย่างรวดเร็ว
ครรภ์แฝด
มีประวัติทารกน้ำหนักตัวเกิน
มีภาวะ PCOS
มีประวัติใช้ยากลุ่ม Steroid
มีประวัติทารกเสียชีวิตในครรภ์ไม่ทราบสาเหตุ
เมื่อไหร่ควรจะตรวจคัดกรองเบาหวานช่วงท้อง
ตามคำแนะนำ หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ควรได้รับการตรวจคัดกรองหาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ยกเว้นหญิงที่มีความ เสี่ยงต่ำมาก ได้แก่ อายุน้อยกว่า 25 ปี และ น้ำหนักตัวก่อนการตั้งครรภ์ปกติ และ ไม่มีประวัติโรคเบาหวานใน ครอบครัว และไม่เคยมีประวัติการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติมาก่อน ซึ่งโดยทั่วไป จะมีการตรวจคัดกรองเบาหวานในช่วงสัปดาห์ที่ 24-28 ของการตั้งครรภ์
หญิงที่มีความเสี่ยงสูงแนะนำให้ตรวจคัดกรอง เมื่อฝากครรภ์ครั้งแรก ถ้าผลปกติให้ตรวจซ้ำใหม่เมื่ออายุครรภ์ได้ 24-28 สัปดาห์
การตรวจวินิจฉัยและคัดกรองเบาหวานช่วงท้อง
การวินิจฉัยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ปัจจุบันมีการใช้อยู่หลายเกณฑ์ด้วยกัน เกณฑ์ที่ราชวิทยาลัย สูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำให้ใช้ในปัจจุบัน มี 2 เกณฑ์คือ เกณฑ์ของ Carpenter และ Coustan และเกณฑ์ของ International Diabetes Federation (IDF)
เกณฑ์ของ Carpenter และ Coustan
ตรวจคัดกรอง : การตรวจคัดกรองโดยเกณฑ์ ของ Carpenter และ Coustan แนะนำให้ทำเวลาใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องอดอาหาร โดยให้หญิงตั้งครรภ์ดื่ม สารละลายกลูโคส 50 กรัม (50 g glucose challenge test) หลังดื่ม 1 ชั่วโมง เจาะเลือดจากหลอดเลือดดำ ตรวจวัดระดับพลาสมากลูโคส ถ้ามีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 140 มก./ดล. ถือว่าผิดปกติ
ตรวจวินิจฉัย : แนะนำให้ หญิงตั้งครรภ์ดื่มน้ำที่ละลายน้ำตาลกลูโคส 100 กรัม (100 gm OGTT) และเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาล ในเลือดทั้งสิ้น 4 จุด
โดยให้เจาะเลือดก่อนดื่มน้ำตาล(FBS) และหลังดื่มน้ำตาลที่ 1, 2 และ 3 ชั่วโมง ถ้ามีค่าน้ำตาล ในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 95, 180, 155 และ 140 มก./ดล. ตั้งแต่ 2 ค่าขึ้นไปจะถือว่าเป็นโรคเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์
เกณฑ์ของ IDF
ตรวจคัดกรอง : แนะนำให้ตรวจคัดกรอง ด้วยการตรวจระดับพลาสมากลูโคสในเลือดขณะอดอาหาร (FBS)) ถ้ามีค่ามากกว่า 92 มก./ดล. หรือมากกว่า สามารถให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้เลย แต่ถ้ามีค่าน้อยกว่า 92 มก./ดล. แนะนำให้ ตรวจต่อด้วย 75 กรัม OGTT เมื่ออายุครรภ์ได้ 24-28 สัปดาห์
ตรวจวินิจฉัย : แนะนำให้ใช้น้ำตาลกลูโคส 75 กรัม (75gm OGTT) และเจาะเลือด ตรวจระดับน้ำตาล 3 จุด เจาะเลือดก่อนดื่มน้ำตาล (FBS) และหลังดื่มน้ำตาลที่ 1 และ 2 ชั่วโมง ถ้ามีค่าน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 92, 180, และ 153 มก./ดล. ตั้งแต่ 1 ค่าขึ้นไปจะถือว่าเป็นโรคเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์
การรักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
หลักในการรักษาเช่นเดียวกับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน คือพยายามควบคุมระดับน้ำตาล ในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดหนด หญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ส่วนใหญ่สามารถควบคุม ระดับน้ำตาลได้โดยการควบคุมอาหารอย่างเดียว จะพิจารณาให้อินซูลินในรายที่ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอด อาหารมากกว่า 105 มก./ดล. ตั้งแต่แรกวินิจฉัย หรือในรายที่ควบคุมอาหารแล้วระดับน้ำตาลในเลือดขณะอด อาหารยังมากกว่า 95 มก./ดล. หรือระดับน้ำตาลในเลือดหลังอาหาร 1 ชม. และ 2 ชม. มากกว่า 140 และ 120 มก./ดล. ตามลำดับ
การให้อินซูลินในหญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์อาจให้วันละ 1-2 ครั้ง โดยใช้อินซูลินออกฤทธิ์นานปานกลางร่วมกับฮิวแมนอินซูลินออกฤทธิ์สั้นหรืออินซูลินอะนาล็อกออกฤทธิ์เร็ว หากจำเป็นอาจใช้ยาเม็ดลดน้ำตาลในหญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยเลือกใช้ Glibenclamide หรือ metformin หรือใช้ metformin ร่วมกับอินซูลินในกรณีที่ต้องใช้อินซูลินปริมาณสูงมาก
เป้าหมายของระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานขณะตั้งครรภ์
เวลา ระดับน้ำตาลในเลือด (มก./ดล.)
ก่อนอาหารเช้าอาหารมื้ออื่น และก่อนนอน 60-95
หลังอาหาร 1 ชั่วโมง <140
หลังอาหาร 2 ชั่วโมง <120
เวลา 02.00 – 04.00 น. >60
การติดตามหลังคลอดในหญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
หญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานในอนาคตมากกว่าหญิงปกติ 7.4 เท่า ดังนั้นทุกรายควรได้รับการติดตามตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังคลอด 6 สัปดาห์ โดยการตรวจความทน ต่อกลูโคส 75 กรัม (75 g oral glucose tolerance test, OGTT) ถ้าผลปกติ ควรได้รับการติดตามทุก 1 ปี และหญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ทุกรายควรได้รับคำแนะนำการควบคุมอาหารและออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวานในอนาคต
การควบคุมอาหารในช่วงท้อง มีความสำคัญมากๆ ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องเทคนิคการกินในคุณแม่ที่เป็นเบาหวานช่วงท้อง)
เอกสารอ้างอิง
1. ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์. เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์. ใน: สถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทย 2550. วรรณี นิธิยานันท์, สาธิต วรรณแสง, ชัยชาญ ดีโรจนวงศ์, บรรณาธิการ. สมาคมโรคเบาหวานแห่ง ประเทศไทย. กรุงเทพ 2550
2. IDF Clinical Guidelines Task Force. Global Guideline on Pregnancy and Diabetes. International Diabetes Federation. Brussels, 2009.
3. American Diabetes Association. Standards of medical care in diabetes-2017. Diabetes Care 2017; 40 (Suppl 1): S114-S119.
4. ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย การตรวจคัดกรองเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ 2555.
5. Deerochanawong C, Putiyanun C, Wongsuryrat M, Jinayon P. Comparison of NDDG and WHO criteria for detecting gestational diabetes. Diabetologia 1996; 39: 1070-3
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai. MD) Dr. Noi The Family
#เบาหวานขณะตั้งครรภ์ #เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ #วินิจฉัยเบาหวานขณะตั้งครรภ์ #ทำไมเป็นเบาหวานตอนท้อง
Kommentare