ช่วง 3 เดือนหลังคลอดของลูก เปรียบได้กับเป็นไตรมาสที่ 4 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกอาจจะยังปรับตัวกับโลกภายนอกไม่ได้ ยังต้องการการดูแลและเอาใจใส่จากพ่อและแม่ การนอนเป็นหนึ่งในสิ่งที่อาจจะไม่ได้ง่ายสำหรับลูก เนื่องจากบรรยากาศภายนอกแตกต่างจากตอนที่เค้าเคยอยู่ในห้องของแม่ คุณพ่อคุณแม่ อาจเจอปัญหาที่ไม่สามารถกล่อมลูกนอนได้ ลูกร้องตลอดทั้งคืน ส่งผลให้คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องพลอยอดนอนไปด้วย ซึ่งหมอหน่อยเองก็เคยเป็นเช่นนั้น วันนี้หมอหน่อยเลยจะมาทำเสนอเทคนิคการกล่อมลูกนอน ซึ่งสามารถใช้ได้ผลดีกับลูกน้อย 0-3 เดือนและมากกว่านั้น เทคนิคเหล่านั้นมีอะไรบ้าง ไปติดตามกันค่ะ
การกล่อมลูกนอน อาจไม่ได้ง่ายในเด็กแต่ละคน เนื่องจากสภาพแวดล้อมภายนอกช่างแตกต่างจากที่ลูกเคยอยู่มากเหลือเกิน Dr. Harvey Karp, a pediatrician and child development expert, ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนของเด็ก ได้แนะนำ 5 เทคนิคการกล่อมลูกนอน หรือ 5 S’sMethod ซึ่งประกอบไปด้วย
1. The 1st S: Swaddle : การห่อตัวเด็ก
การห่อตัวเด็ก คือการใช้ผ้าห่อตัวเด็กไว้คล้ายดักแด้ ทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่นเหมือนตอนอยู่ในท้องของแม่ ทำให้เด็กสงบขึ้น มีงานวิจัยพบว่า การห่อตัวเด็กช่วยให้เด็กสามารถนอนหลับได้ดีกว่าการไม่ห่อตัว(1) นอกจากนี้การห่อตัวเด็กยังช่วยลดอาการผวาของเด็ก หรือ Moro reflex ที่มือ 2 ข้างจะผวาเข้าหาตัวเมื่อได้ยินเสียงดังๆ
การห่อตัวที่ถูกต้องคือ แขน 2 ข้างจะแนบลำตัว แต่ต้องระวังไม่ให้รัดแน่นที่สะโพกและขา ขาควรจะยังสามารถขยับและงอได้ เนื่องจากอาจทำให้สะโพกผิดปกติหรือหลุดได้ ควรใช้ผ้าห่อตัวที่ไม่หนาเกินไป และควรห่อตัวเฉพาะช่วงที่เด็กกระสับกระส่าย ต้องการให้สงบ หรือง่วงนอนเท่านั้น ไม่ควรห่อตัวตลอดทั้งวัน
2. The 2nd S: Side or Stomach Position : การนอนด้านข้างหรือนอนเอาท้องลง
แม้ว่าการนอนราบ (Back position) จะเป็นท่าที่ปลอดภัยที่สุดในการนอนของลูก และการนอนคว่ำอาจจะเพิ่มโอกาสการเกิดโรคไหลตายในเด็ก หรือ SIDS sudden infant death syndrome แต่ท่านอนราบกลับไปท่าที่แย่ที่สุดในการทำให้ลูกสงบ หรือหลับได้
การทำให้ลูกสงบหรือหลับ ท่าที่ได้ผลคือการจับนอนคว่ำ หรือเอาท้องลง แต่แนะนำให้ทำในช่วงที่ต้องการให้ลูกสงบ พอลูกหลับก็ให้นำลูกนอนราบตามปกติ ไม่ควรให้นอนคว่ำจนกว่าอายุจะมากกว่า 1 ปี
โดยเทคนิคการจับลูกนอนคว่ำ อาจทำโดยใช้ท่า Chest to Chest หรือ อุ้มลูกวางบนแขน (ดังภาพ) ก็ได้
3. The 3rd S: Shush : เสียง ชู่วว
พ่อแม่หลายๆ ท่านเข้าใจว่าเมื่อลูกจะนอน ห้องจะต้องเงียบสงบ แต่ความจริงไม่ใช่เลยค่ะ ตอนที่ลูกน้อยอยู่ในท้อง จะได้ยินเสียงดังตลอดเวลา ทั้งเสียงน้ำคล่ำ เสียงหัวใจแม่เต้น เสียงของการทำงานของลำไส้ ทำให้ลูกคุ้นชินกับเสียงเหล่านั้น
เสียงที่ใกล้เคียงกับเสียงที่ลูกได้ยินมาตลอดคือเสียง ชู่ววว (Shush) เสียง white noise เสียงน้ำตก หรือ แม้กระทั่งเสียงเครื่องดูดฝุ่น ตอนกล่อมลูก อาจทำเสียงชู่วววว ใกล้ๆ หูลูก แล้วลดระดับเสียงลงมา เมื่อลูกน้อยเริ่มสงบลง
4. The 4th S: Swing : การไกว
แม่ๆ เคยส่งสัยหรือไม่ ว่าทำไมตอนตั้งท้องลูกถึงหลับได้ดีตอนกลางวัน แต่ตื่นกลางคืน เนื่องจากช่วงกลางวัน แม่มีการขยับตัวตลอดเวลา การเคลื่อนไหวตัว เหมือนการไกวลูกที่อยู่ในน้ำคล่ำ ทำให้ลูกหลับสบาย ซึ่งเมื่อแม่อยู่นิ่งๆ เช่นการนอนจะไม่มีการไกวเกิดขึ้น ลูกก็เลยตื่นขึ้นมา
เช่นเดียวกันกับช่วงหลังคลอด การไกวลูกไม่ว่าจะไกวในอ้อมกอด หรือไกวด้วยเปล จะช่วยให้ลูกสงบและหลับได้ง่ายขึ้น แต่ห้าม เขย่า (Shaking) ลูก เนื่องจากอาจทำให้เลือดออกในสมองได้
5. The 5th S: Suck : การดูด
การดูดเป็น reflex พื้นฐานของลูกที่ลูกทำตั้งแต่อยู่ในท้องตอน 14 สัปดาห์ การดูดเป็นหนึ่งในวิธีที่ลูกใช้ในการทำให้ตัวเองสงบ โดยอาจไม่จำเป็นต้องเป็นการดูดนมเสมอไป เด็กบางคนสามารถสงบและหลับได้ด้วยการดูดมือ หรือดูดจุกหลอก (pacifier)
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้จุกหลอกในช่วง 1 เดือนแรกหลังคลอด และควรเริ่มลดการใช้จุกหลอกเมื่อลูกอายุได้ประมาณ 6 เดือน
เทคนิค 5S นี้ บางครั้งอาจทำสำเร็จตั้งแต่ S แรก หรือบางครั้งก็ต้องใช้ทั้ง 5S ถึงจะสามารถทำให้ลูกสงบได้ สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น และค่อยๆ เรียนรู้เทคนิคที่ใช้ได้ผลกับลูกของเราเอง
ในกรณีที่ทำทุกวิธีแล้วยังไม่ได้ผล ลูกยังร้องไห้ ไม่ยอมหลับ หมอหน่อยก็ยังมีวิธีอื่นๆ อีก เช่น
เปลี่ยนคนกล่อม
พาออกมาเดินนอกบ้าน
พานั่งคาร์ซีท อาจขับรอบๆ หมู่บ้าน
ซึ่งไม่นาน คุณพ่อคุณแม่จะค้นพบวิธีการที่ดีที่สุด ที่ใช้กับลูกได้ผลค่ะ หมอหน่อยขอเป็นกำลังใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านนะคะ
แล้วมาติดตามกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)
Comments