สำหรับคุณแม่มือใหม่ การปั๊มนม อาจเป็นเรื่องใหม่ ที่ยังไม่มั่นใจ ว่าต้องทำยัง ต้องทำเมื่อไหร่ มีเทคนิคอะไรบ้าง จากประสบการณ์การปั๊มนมของหมอหน่อยตั้งแต่ช่วงหลังคลอด มาตอนนี้ก็เกือบ 10 เดือนแล้ว หมอหน่อยเลยจะมาแนะนำ เทคนิคการปั๊มนมสำหรับคุณแม่มือใหม่ เผื่อจะเป็นประโยชน์นะคะ
เมื่อไหร่ควรเริ่มปั๊มนม?
ช่วงเวลาในการเริ่มปั๊มนม อาจแตกต่างกันในแต่ละคนนะคะ ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น
เริ่มปั๊มตั้งแต่ช่วงแรกหลังคลอด เช่นกรณีที่ลูกน้อยป่วยต้องนอน NICU คุณแม่ป่วยต้องแยกตัวเช่นติดเชื้อโควิด-19 ลูกมีปัญหาในการเข้าเต้า หรือ ต้องการให้คนอื่นช่วยป้อน หรือช่วยเลี้ยง
ปั๊มเพื่อกระตุ้นน้ำนม ในกรณีที่คุณแม่บางท่านเป็นคุณแม่ Fulltime ไม่จำเป็นต้องสต๊อกน้ำนม อาจจะต้องการปั๊มเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนม อาจปั๊มช่วงที่วางจากการให้นมวันละ 2-3 ครั้ง
ปั๊มเพื่อเก็บสต๊อกตอนไปทำงาน กรณีนี้อาจเพิ่มปั๊มที่หลัง ก่อนไปทำงานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อให้มีสต๊อกไว้เพียงพอหมุนเวียนให้ลูก และเริ่มปั๊ม
สายปั๊มล้วน กรณีที่ลูกไม่สามารถเข้าเต้าได้ หรือคุณแม่มีปัญหาในการให้ลูกเข้าเต้า อาจตัดสินใจเป็นสายปั๊มล้วน นั่นหลายถึงต้องปั๊มนมตลอดทั้งช่วงกลางวัน และกลางคืน เหมือนการกินของลูก
ต้องปั๊มบ่อยแค่ไหน?
ต้องกลับไปดูที่เป้าหมายของการปั๊มนมแบบที่หมอหน่อยกล่าวข้างต้นค่ะ กรณีว่าเป็นคุณแม่ Fulltime อาจไม่จำเป็นต้องปั๊มบ่อย อาจแค่วันละ 2-3 ครั้งเพื่อกระตุ้นน้ำนม หรือพอมีนมสต๊อกไว้กรณีฉุกเฉิน
แต่กรณีที่คุณแม่ เป็นคุณแม่สายปั๊มล้วน อาจต้องปั๊มให้ได้ความถี่เทียบเท่ากับการกินของลูกตามช่วงอายุนั้นๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ในช่วง 6 เดือนแรก อาจต้องปั๊ม 8-12 ครั้งต่อวัน หรือ ทุก 2-4 ชั่วโมง และควรปั๊มในช่วงรอบดึก อย่างน้อย 2 รอบต่อคืน เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำนมที่เพียงพอ ในกรณีที่คุณแม่น้ำนมเยอะ อาจพิจารณาการปั๊มให้พอไม่เกิดการอุดตันของเต้านม
ในกรณีที่คุณแม่กลับไปทำงาน ยังควรต้องปั๊มทุก 3-4 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นให้น้ำนมยังสร้างอย่างเพียงพอ (อ่านเทคนิคการปั๊มนมในที่ทำงานเพิ่มเติม)
ต้องปั๊มนานแค่ไหน?
ระยะเวลาในการปั๊มนม ขึ้นกับแต่ละคนเลยนะคะ หลักการคือ ปั๊มให้เกลี้ยงเต้า โดยดูได้จาก เต้านมจะนิ่ม โล่งขึ้น และน้ำนมไม่ไหล หรือไหลน้อยลงมาก โดยส่วนใหญ่ มักใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ต่อข้าง โดยแนะนำให้คุณแม่ปั๊มพร้อมกัน 2 ข้าง เพื่อเนื่องจากพบว่าจะทำให้ได้น้ำนมมากขึ้น และประหยัดเวลาในการปั๊มนม
ขั้นตอนการปั๊มนม
เตรียมอุปกรณปั๊มนมให้พร้อม ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ ประกอบให้เรียบร้อย ตรวจสอบว่า เครื่องปั๊มนมสามารถใช้งานได้ปกติ
หาพื้นที่สำหรับปั๊มนม อาจเป็นเก้าอี้ที่นั่งสบาย ไม่ร้อน คุณแม่บางคนอาจปั๊มนมได้ดีขึ้น ถ้าได้มองภาพลูก หรือดมชุดลูกไปด้วย
เตรียม สิ่งที่ทำให้รู้สึกไม่เครียดตอนปั๊มนม เช่น เปิดซีรีดู หาเครื่องดื่มร้อนๆ หรือ ทานคุกกี้เพิ่มน้ำนมในช่วงที่ปั๊มนม
ใส่กรวยปั๊มไปที่หน้าอก โดยให้หัวนมอยู่ตรงกลางของรูในกรวยปั๊ม อาจใส่เสื้อในสำหรับปั๊มนม เพื่อที่จะได้ให้เสื้อในช่วยพยุงกรวยปั๊ม ในช่วงที่ปั๊มนมค่ะ
เริ่มปั๊มนม โดยค่อยๆ เพิ่มระดับความแรง โดยเน้นความสบายของแม่ในช่วงที่ปั๊มนม แนะนำให้เริ่มที่หมวดกระตุ้น 3-5 นาที หลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นโหมดดูด 5-10 นาที ทำสลับกันจนคุณแม่รู้สึกว่าน้ำนมเกลี้ยงเต้าค่ะ
เก็บน้ำนม โดยอาจเก็บใส่ขวดนมไว้ให้ลูกทาน หรือใส่ถุงเก็บน้ำนม เพื่อทำสต๊อกไว้ให้ลูกก็ได้ค่ะ
ทำความสะอาดกรวยปั๊มนม สำหรับใช้ในครั้งต่อไป
เทคนิคการเพิ่มน้ำนม
ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 3-4 ลิตรต่อวัน
ทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ได้พลังงานเพิ่มขึ้น 500 กิโลแคลอรี่ต่อวัน โดยเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารกลุ่มโปรตีน
นอนหลับให้เพียงพอ หาเวลานอนในช่วงเวลาที่ลูกนอนหลับ
ระบายน้ำนมให้สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการให้นมลูก หรือ การปั๊มนมทุก 3-4 ชั่วโมง
ทานอาหารเพิ่มน้ำนม เช่น หัวปลี กระเพา ฟังทอง หรือ คุกกี้เพิ่มน้ำนม
แล้วเดี๋ยวหมอหน่อยมาแชร์เทคนิคดีเกี่ยวกับนมแม่อีกนะคะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)
Commentaires