top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

เทคนิคการฝึกลูกนอนคว่ำ หรือ การทำ Tummy Time (Guide to Tummy Time)

ในปัจจุบันได้มีคำแนะนำให้ฝึกลูกนอนคว่ำ หรือทำ Tummy Time ในช่วงที่ลูกตื่นดี และสามารถเริ่มทำได้ตั้งลูกออกจากโรงพยาบาล แล้วทำไมต้องฝึกลูกนอนคว่ำ การฝึกนอนคว่ำมีประโยชน์อย่างไร และมีเทคนิคอย่างไร วันนี้หมอหน่อยจะมาเล่าให้แม่ๆ ฟังค่ะ


Tummy time คือการฝึกให้ลูกนอนคว่ำโดยมีผู้ใหญ่อยู่ใกล้ชิดตลอดเวลา ซึ่งควรทำในช่วงที่ลูกตื่นตัว โดยสมาคมกุมารแพทย์แห่งอเมริกา หรือ American Academy of Pediatrics (AAP) ได้แนะนำให้ทำ Tummy Time ตั้งแต่แรกที่ลูกกลับบ้าน โดยเฉพาะช่วงอายุ 0-6 เดือน เพื่อเป็นการกระตุ้นพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูกน้อย


ประโยชน์ของการทำ Tummy Time

  • ช่วยให้กล้ามเนื้อคอ กล้ามเนื้อไหล่ กล้ามเนื้อหลัง มีความแข็งแรงมากขึ้น

  • ช่วยในเรื่องการพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ (gross motor skills)

  • ช่วยเรื่องพัฒนาการด้านการมองเห็นของลูก

  • เป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนาการอื่นๆ ของลูก เช่น การพลิกคว่ำ การคลาน การหยิบจับของ การนั่ง รวมไปถึงการเดิน

  • ลดการหัวแบนของลูก

อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องปกติที่ลูกน้อยจะไม่ชอบการทำ Tummy Time ในช่วงเริ่มต้น เนื่องจาก การทำ Tummy Time เป็นการออกแรงอย่างหนึ่ง ต้องใช้แรงในการยกศีรษะ ซึ่งเป็นงานที่ยากสำหรับเด็กทารก นอกจากนี้ การทำ Tummy Time ยังทำให้เด็กมองไม่เห็นอะไร และรู้สึกอึดอัดที่ต้องนอนคว่ำ ทำให้ลูกน้อยอาจร้องไห้ไม่พอใจ


ในช่วงเริ่มต้น คุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะทำ Tummy Time ในช่วงเวลาสั้นๆ ครั้งละ 1 นาที ช่วงแรกอาจทำแค่ 3-5 นาทีต่อวัน และค่อยๆ เพิ่มเวลาในการทำ Tummy Time ให้มากขึ้น ตามอายุเด็กที่มากขึ้น โดยเพิ่มเวลาทำในแต่ละรอบ และเพิ่มเวลาในการทำสะสมในแต่ละวัน

  • 1 เดือน 10 นาทีต่อวัน

  • 2 เดือน 15-20 นาทีต่อวัน

  • 3 เดือน 20-30 นาทีต่อวัน


เทคนิคในการทำ Tummy Time

  1. ทำในช่วงเวลาที่ลูกน้อยอารมณดี เช่น ช่วงเวลาหลังตื่นนอน ช่วงหลังอาบน้ำ ช่วงเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือช่วงที่กำลังเล่น

  2. หลีกเลี่ยงช่วงที่ลูกหิวนมเนื่องจากอาจจะหงุดหงิด หรือกินนมอิ่มมากๆ เนื่องจากอาจทำให้แหวะนมได้

  3. ทำ Tummy Time ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่เท่านั้น

  4. หาพื้นที่ราบในการทำ ปูผ้า หรือเบาะรอง สำหรับการทำ Tummy time

  5. วางของเล่น ที่สามารถดึงดูดความสนใจของลูกเวลาทำ Tummy time

  6. วางลูกในท่านอนคว่ำ ในบริเวณที่ต้องการทำ Tummy time อาจใช้ผ้าเช็ดตัวม้วนเป็นวงกลม หรือใช้หมอนขนาดเล็กรองไว้ใต้หน้าอกของลูก เพื่อให้ลูกทำ Tummy time ได้ง่ายขึ้น

  7. ให้ลูกทำ Tummy time ประมาณครั้งละ 3-5 นาที หรือจนกว่าลูกจะเบื่อ หรือรู้สึกไม่อยากทำ

  8. ดึงความสนใจในการทำ ด้วยการพูดคุยกับลูกในระดับเดียวกับสายตาลูก หรือ หาของเล่นเพื่อดึงดูดความสนใจ หรือใช้กระจกที่ไม่แต่เพื่อให้ลูกสามารถมองเห็นตัวเองได้

  9. หยุดทำเมื่อลูกแสดงอาการกระวนกระวาย อึดอัด ไม่อยากทำต่อ แล้วทดลองทำใหม่ในรอบหน้า

5 ท่าแนะนำในการทำ Tummy Time


1. ท่าคว่ำบนพื้น


2. ท่านอนบนหน้าอกของแม่


3. ท่าวางบนหน้าตัก


4. ท่าวางบนแขน


5. ท่าวางบนลูกบอล



ข้อควรระวังในการทำ Tummy Time

  • ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่เท่านั้น

  • ทำเฉพาะช่วงที่เด็กตื่นดี ไม่ให้เด็กนอนคว่ำตอนที่นอนหลับจนกว่าจะอายุ 1 ขวบ

  • หลีกเลี่ยงการทำในเด็กที่คลอดก่อนน้ำหนด น้ำหนักน้อย หรือมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ สามารถเริ่มทำได้เมื่อเด็กแข็งแรงดี

  • หลีกเลี่ยงการทำในกลุ่มเด็กที่มีความพิการทางสมอง

  • หลีกเลี่ยงการทำในกลุ่มเด็กที่มีปัญหากรดไหลย้อนรุนแรง

การทำ Tummy Time มีประโยชน์ต่อลูกในหลายๆ ด้าน และเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกน้อยได้ค่ะ ยังไงคุณพ่อคุณแม่ ลองนำไปปฎิบัติดูนะคะ


แล้วมาติดตามกันได้ใหม่ในบทความหน้าค่ะ


เขียนโดย พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)


#ฝึกลูกทำTummytime #ฝึกลูกนอนคว่ำ #ทำtummytime





ดู 14,448 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page