top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

ภาวะท่อนำไข่ตีบตันคืออะไร?สำคัญต่อการมีลูกอย่างไร? (How dose block fallopian tube impact fertility?)

อัปเดตเมื่อ 1 เม.ย. 2566

ภาวะท่อนำไข่ตัน หรือ Block fallopian tube เป็นสาเหตุของการมีบุตรยากในหญิง ที่พบได้บ่อยมากสาเหตุหนึ่ง โดยพบได้ถึง 20% ของหญิงที่มีปัญหามีบุตรยาก ที่สำคัญ คนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามเรื่องนี้ไป ไม่ได้ตรวจหาสาเหตุ ทำให้การแก้ปัญหามีบุตรยาก ไม่ตรงกับปัญหาจริง วันนี้หมอหน่อยจะมาเกริ่นคร่าวๆ เรื่องท่อนำไข่ตันนี้ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจ และมีแนวทางในการแก้ปัญหาจากภาวะนี้ค่ะ



ท่อนำไข่คืออะไร?


ท่อนำไข่ หรือ Fallopian tube เป็นส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธ์หญิง เป็นท่อเล็กๆ ที่เชื่อมต่อมดลูก กับรังไข่ เป็นที่ที่ไข่กับสเปิร์มมาเจอกัน และเกิดการปฎิสนธิกัน หากเกิดการปฎิสนธิแล้ว ตัวอ่อนจะเดินทางผ่านท่อนำไข่ไปฝังตัวที่มดลูก เพื่อเติบโตต่อไป

ถ้าท่อนำไข่มีการตีบตัน ก็เหมือนเป็นการปิดกั้นการเดินทาง อาจทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเดินทางเพื่อไปฝังตัวที่มดลูกได้ ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก ซึ่งสาเหตุของการตีบตันของท่อนำไข่ ที่พบได้บ่อยคือ มีผังผืด การติดเชื้อ หรือการกดทับจากภายนอก


อาการของภาวะท่อนำไข่ตีบตัน (Symptoms of blocked fallopian tubes)


โดยปกติภาวะท่อนำไข่ตีบตันไม่แสดงอาการใดๆ คุณผู้หญิงมักไม่มีอาการใดๆ จนเกิดปัญหาเรื่องมีบุตรยากจึงเริ่มสงสัยภาวะนี้ ในบางครั้งอาจมีอาการปวดท้องเล็กน้อยด้านที่ท่อนำใข่มีปัญหา ซึ่งพบได้บ่อยในคนที่มีปัญหาท่อนำไข่บวม หรือ Hydrosalpinx เนื่องมาจากมีน้ำเข้าไปอยู่ในท่อนำไข่ทำให้ท่อนำไข่บวม และอาจเกิดอาการปวดขึ้นมาได้


ผลต่อการมีลูก (Effect on fertility)


ภาวะท่อนำไข่ตีบตันเป็นภาวะที่พบได้บ่อยว่าเป็นสาเหตุในเกิดภาวะมีบุตรยาก อาจปิดกั้นการเจอกันของไข่กับสเปิร์ม หรือปิดกั้นการเดินทางของตัวอ่อน ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปฝังตัวที่มดลูกได้ หากเกิดการตีบตันแบบ 100% โอกาสประสบความสำเร็จก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่หากไม่ใช่การตีบตันทั้งหมด (Partially block) อาจยังมีโอกาสตั้งท้องได้ แต่ก็เพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้มากขึ้น


ในกรณีที่มีการตีบตันท่อนำไข่แค่ข้างเดียว คุณอาจจะยังมีโอกาสท้องได้จากการที่ไข่สามารถเดินทางผ่านท่อนำไข่ด้านที่ปกติ โดยแพทย์อาจใช้ยากระตุ้นให้ไข่ตก เพื่อให้ไข่ในรังไข่ด้านที่ท่อนำไข่ปกติตกออกมา ซึ่งสามารถเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ได้มากขึ้น แต่หากมีอาการตีบตันแบบรุนแรง แพทย์อาจแนะนำการใช้เทคโนโลยีในการรักษา เช่น การทำ IVF หรือ ICSI


สาเหตุของการเกิด


สาเหตุของการตีบตันของท่อนำไข่ มักจะมาจากผังผืดบริเวณรอบๆท่อนำไข่ หรือผังผืดในอุ้งเชิงกราน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะท่อนำไข่ตีบตันคือ


  • การติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน : ทำให้เกิดแผลเป็น หรือผังผืดรอบๆท่อนำไข่ หรือทำให้เกิด Hydrosalpinx หรือท่อนำไข่บวมน้ำได้

  • เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรือ Endometriosis : ซึ่งอาจมีการเจริญไปที่ท่อนำไข่ หรือทำให้เกิดผังผืดรอบๆท่อนำไข่จากการอักเสบรอบๆอุ้งเชิงกราน

  • การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ : เช่นการติดเชื้อกลุ่ม Chlamydia และ Gonorrhea สามารถทำให้เกิดผังผืด รอบๆได้ หรือส่งผลให้เกิดภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบตามมา

  • ประวัติการตั้งครรภ์นอกมดลูก : อาจส่งผลให้เกิดผังผืดในด้านที่เคยมีปัญหาได้

  • ก้อนเนื้องอกมดลูก หรือ Myoma uteri : อาจมีการกดเบียดของก้อนเนื้องอกมดลูกไปที่ท่อนำไข่ ทำให้ท่อนำไข่ตีบหรือตันได้

  • ประวัติการผ่าตัดทางช่องท้อง : โดยเฉพาะการผ่าตัดที่เกิดกับท่อนำไข่เอง เช่นการทำหมันมาก่อนหน้านี้ หรือการผ่าตัดอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดผังผืดบริเวณอุ้งเชิงกรานได้

การวินิจฉัยภาวะท่อนำไข่ตีบตัน (Diagnosis a blocked fallopian tube)


การฉีดสีเพื่อดูท่อนำไข่ หรือ Hysterosalpingography (HSG) คือการฉีดสีร่วมกับเอ็กซ์เรย์ดูว่ามีสีผ่านไปในปีกมดลูกหรือท่อนำไข่หรือไม่ ปกติการตรวจ HSG สามารถทำให้ที่โรงพยาบาลหรือคลินิค ซึ่งควรทำหลังหมดประจำเดือนแต่ก่อนถึงวันไข่ตก การตรวจเป็นแบบ Non-invasive คล้ายการตรวจภายในโดยทั่วไป หรือหากการทำ HSG ไม่ได้คำตอบ แพทย์อาจเลือกที่จะทำการส่องกล้องเล็กๆ หรือ Laparoscopy เพื่อให้เห็นพยาธิสภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสามารถทำการรักษาได้เลยเมื่อเจอความผิดปกติ โดยการเลือกชนิดของการตรวจขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์ที่ให้การรักษา และหมอจะมีบทความอธิบายเกี่ยวกับการตรวจท่อนำไข่อีกครั้งในตอนต่อไป


การรักษาภาวะท่อนำไขตีบตัน (Treating blocked fallopian tubes)


การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงและปัจจัยร่วมอื่นๆ

  • หากท่อนำไข่มีการตีบตีนเพียงเล็กน้อย แพทย์อาจทำการรักษาด้วยการส่องกล้องเผื่อเอาผังผืดออกหรือเปิดท่อนำไข่ ซึ่งอาจทำร่วมกับการรักษาด้วยการกระตุ้นให้ไข่ตกในบางราย หรืออาจทำ IUI ร่วมด้วย

  • ในกรณีที่มีการตีบตันมาก อาจต้องพิจารณาการผ่าตัด แต่อย่างไรก็ตามบางครั้งการรักษาท่อนำไข่อาจจะไม่ได้มีประโยชน์มากในบางกรณี เช่นมีเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ร่วมด้วย มีปัญหาเรื่องไข่ หรือมีปัญหาเรื่องของสเปิร์ม หรือมีภาวะมีบุตรยากอื่นๆร่วม แพทย์อาจแนะนำให้ทำ IVF หรือ ICSI เพื่อเป็นการ bypass ตัวอ่อนให้เดินทางไปฝังตัวที่ผนังลดลูกได้เลย


โอกาสตั้งครรภ์ (The possibility of pregnancy)


โอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์ในคนที่มีปัญหาท่อนำไข่ตีบตัน จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงและการรักษา โอกาสสำเร็จจะมากขึ้นหากเป็นการตีบใกล้ๆมดลูก และลดลงหากมีการตีบที่บริเวณปลายของท่อนำไข่ ซึ่งแนะนำว่าควรปรึกษาเรื่องโอกาสประสบความสำเร็จในการตั้งครรภ์หลังการรักษากับแพทย์ที่ดูแลเนื่องจากจะมีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล


ภาวะแทรกซ่อนของภาวะท่อนำไข่ตีบตัน (Complications of blocked fallopian tube)


ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในคนที่มีปัญหาท่อนำไข่ตีบหรือตัน หรือภายหลังการรักษาคือ การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือ Ectopic pregnancy ซึ่งถ้าท่อนำไข่ไม่ได้ตีบทั้งหมด ไข่กับสเปิร์มอาจสามารถปฎิสนธิได้ แต่ไม่สามารถเดินทางไปฝังตัวที่มดลูกได้ เลยเกิดเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกแทน ซึ่งการตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือ Ectopic pregnancy ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์อย่างหนึ่ง

แม้แต่การรักษาท่อนำไข่ตีบตันแบบการผ่าตัดเอง อาจเพิ่มโอกาสเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูได้เช่นกัน แพทย์อาจแนะนำให้ทำ IVF หรือ ICSI เพื่อลดโอกาสเสี่ยงนี้


สรุป

ภาวะท่อนำไข่ตีบตัน เป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยากที่พบได้บ่อยในหญิง สามารถตรวจโดยการฉีดสีดูท่อนำไข่ ซึ่งเป็นการตรวจแบบ Non-invasive ไม่ต้องดมยาสลบ สาเหตุมักจะมาจากการติดเชื้อ หรือประวัติการผ่าตัดก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดผังผืดรอบๆท่อนำไข่ การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงและปัจจัยอื่นๆ ควรมีการปรึกษาทำความเข้าใจกับแพทย์ที่ดูแลค่ะ


ในรอบหน้าหมอจะมาเล่าเกี่ยวกับการฉีดสีดูท่อนำไข่ ว่ามีขั้นตอนการทำอย่างไร และต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างนะคะ รอติดตามกันค่ะ


ผลิตภัณฑ์แนะนำ : https://www.drnoithefamily.com/products





Tantawan Prasopa.MD (พญ. ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily


#ภาวะท่อนำไข่ตันคือ #ท่อนำไข่ตีบคือ #การตรวจท่อนำไข่ #ท่อนำไข่ตีบตันคือ #การรักษาท่อนำไข่ตีบตัน #สาเหตุภาวะมีบุตรยาก


ดู 2,258 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page