top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

อยากมีลูกแฝด ทำอย่างไรได้บ้าง? (How to conceive twin?)

อัปเดตเมื่อ 1 เม.ย. 2566

ในปัจจุบันพบว่าหญิงไทยมีแนวโน้มที่จะมีลูกตอนอายุมากเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้เพิ่มโอกาสที่ต้องทำการรักษาภาวะมีบุตรยาก จึงทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการมีลูกแฝดเพิ่มมากขึ้น พบว่าจำนวนเด็กแฝด เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการตั้งท้องแฝดยังเกี่ยวเนื่องกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น อายุ กรรมพันธุ์ หรือการใช้ยากระตุ้นไข่ รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ไปติดตามบทความนี้กันค่ะ


ในทางการแพทย์แล้ว การตั้งครรภ์แฝด ถือเป็นการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์จึงหลีกเลี่ยงที่จะเพิ่มโอกาสให้เกิดท้องแฝด ซึ่งภาวะเสี่ยงที่เราจะพบได้บ่อยคือ


ภาวะแทรกซ้อนในทารก

  • โอกาสแท้งสูงขึ้นกว่าครรภ์เดี่ยวประมาณ 3 เท่า

  • การคลอดก่อนกำหนด พบร้อยละ 60 ของครรภ์แฝดสอง

  • ทารกตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งคู่โตช้าในครรภ์

  • อัตราการตายปริกำเนิดเพิ่มขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนต่อมารดา

  • การเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์

  • การเกิดความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ หรือครรภ์เป็นพิษ

  • ภาวะรกเกาะต่ำ

  • ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด

  • โอกาสผ่าตัดคลอดสูงขึ้น

  • การเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอด

แล้วการที่จะมีโอกาสท้องแฝดได้เกิดอะไรได้บ้าง?


1.การทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro fertilization, IVF)


การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF เป็นเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์วิธีหนึ่ง ที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง IVF/ICSI) ขั้นตอนสั้นๆ คือ การกระตุ้นเพื่อให้ได้ไข่หลายๆ ฟอง เพื่อทำการเก็บออกมา แล้วนำไปผสมกับสเปิร์มในห้องปฏิบัติการ และคัดเลือกตัวอ่อนที่สมบูรณ์เพื่อนำไปวางในมดลูก และรอให้เจริญเติบโตต่อไป ซึ่งหลายครั้ง ได้มีการใส่ตัวอ่อนมากกว่า 1 ตัว ทำให้เพิ่มโอกาสที่จะได้ลูกแฝดมากขึ้นจากการทำเด็กหลอดแล้ว


2. ยากระตุ้นไข่ตก (Fertility drugs)


ยากระตุ้นไข่ตก ออกแบบมาเพื่อให้ร่างกายเพิ่มการกระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประสบความสำเร็จในการตั้งท้อง ซึ่งก็มีโอกาสที่จะทำให้ไข่โตมากกว่า 1 ใบ เพิ่มโอกาสที่ไข่จะตกมากกว่า 1 ใบ หากไข่ได้รับการผสมและฝังตัวมากกว่า 1 ใบ ก็สามารถทำให้เกิดท้องแฝดได้เช่นกัน แพทย์อาจให้ยากระตุ้นไข่ตก ตามความเหมาะสมขอแต่ละคน ยาที่เรารู้จักกันดี คือ Chomiphene, Letrozole หรือยากลุ่ม GnRH ที่ไปกระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ แต่แพทย์มักให้ความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดท้องแฝดตามมา


3. ประวัติคนในครอบครัวเป็นแฝด (Family history)


หากคุณมีญาติพี่น้องที่เป็นฝาแฝด หรือ ตนเองเป็นฝาแฝด จะเพิ่มโอกาสการมีลูกแฝดมากขึ้น โดยเฉพาะหากประวัติฝั่งแม่เป็นแฝด เนื่องจากหญิงเหล่านั้นจะมีแนวโน้มมียีนส์ที่อาจทำให้ไข่ตกมากกว่า 1 ใบ ซึ่งพบว่า หญิงที่มีประวัติครอบครัวแบบแฝดไข่คนละใบ หรือแฝดต่าง (Dizygotic twins) จะเพิ่มโอกาสที่ตนเองจะมีลูกแฝด 1 ใน 60 ส่วนชายที่มีประวัติครอบครัวเป็นแฝดต่าง จะเพิ่มโอกาสที่ตนเองจะมีลูกแฝด 1 ใน 250


4. อายุของมารดา


พบว่าโอกาสท้องแฝดเพิ่มมากขึ้นในหญิงที่มีอายุมากกว่า 30 ปี และจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ช่วงปลาย 30 และช่วงอายุ 40 สาเหตุเนื่องมาจากว่า จำนวนไข่ลดลง มีแนวโน้มทำให้ร่างกายสร้างฮอร์โมน FSH มากขึ้น ซึ่ง FSH อาจไปกระตุ้นให้ไข่โตมากกว่า 1 ใบ และตกมากกว่า 1 ใบได้


5. การทานวิตามินบำรุง


มีบางงานวิจัยกล่าวถึงการทานวิตามินบำรุงที่มีส่วนผสมของวิตามินบี โฟลิค และวิตามินอื่นๆ ว่าอาจมีส่วนทำให้เกิดการท้องแฝดแบบไข่คนละใบมากขึ้น เนื่องจากพบว่า หลังการรณรงค์ให้หญิงในสหรัฐอเมริกา ทานวิตามินรวมบำรุงก่อนตั้งครรภ์ พบว่าการเกิดท้องแฝดแบบไข่คนละใบเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตมาก ซึ่งคาดการณ์ว่า อาจจะมาจากคุณภาพของไข่ และการไปช่วยสนับสนุนการทำงานของฮอร์โมน FSH ที่เกี่ยวข้องกับการตกไข่ ทำให้ไข่ตกออกมามากกว่า 1 ใบ





โอกาสที่คุณจะท้องแฝดมีมากแค่ไหน?

การตั้งท้องแฝดพบได้ประมาณ 1 ใน 90 ของการตั้งท้อง ซึ่งจริงๆ พบว่าหลายครั้งการตั้งท้องแฝดก็เกิดขึ้นมาได้เองแม้ว่าจะไม่มีปัจจัยที่สนับสนุนการเกิดท้องแฝดมาเกี่ยวข้อง และพบโอกาสเกิดท้องแฝดมากขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ต่างๆ ซึ่งพบการเกิดท้องแฝดถึง 1 ใน 3 ของการตั้งท้อง


หากคุณตั้งท้องแฝด คุณควรได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นการตั้งท้องความเสี่ยงสูงอย่างที่หมอได้กล่าวไว้ข้างต้นค่ะ ยังไงเดี๋ยวหมอหน่อยจะนำความรู้เกี่ยวกับท้องแฝดมาเล่าให้ฟังเรื่อยๆ นะคะ อย่าลืมติดตามเป็นกำลังใจให้หมอไปเรื่อยๆ เลยน้า


วิตามินบำรุงและผลิตภัณฑ์ที่อาจเพิ่มโอกาสให้คุณท้องง่ายขึ้น



เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ (หมอหน่อย จาก drnoithefamily)


#ท้องแฝด #ท้องแฝดธรรมชาติ #ท้องเกิดจากอะไร #อยากมีลูกแฝดทำอย่างไร #ลูกแฝด

ดู 3,827 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page