การเดินทางท่องเที่ยว แม้ว่าจะสร้างความสุขขณะที่เดินทาง แต่เมื่อสภาพแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนแปลง ก็มีโอกาสที่ลูกน้อย หรือคุณพ่อคุณแม่เอง จะเจ็บป่วยได้ การเจ็บป่วยที่ต่างประเทศ อาจไม่ใช่เรื่องสนุก การเข้าหาบริการทางการแพทย์ที่ต่างประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย การหาซื้อยาในบางประเทศก็ไม่ได้ง่ายเช่นเดียวกัน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ ควรเตรียมยาที่จำเป็นไปด้วย หากเจ็บป่วยจะได้สามารถดูแลสุขภาพของลูกน้อยและตัวคุณเองได้ง่ายขึ้น แต่ต้องเตรียมอะไรไปบ้างวันนี้หมอหน่อยมีคำแนะนำมาฝากค่ะ
การเตรียมยาเบื้องต้นสำหรับลูกน้อย ส่วนใหญ่เป็นยาที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยเบื้องต้น เช่น มีน้ำมูก ไอ มีไข้ ท้องเสีย ปวดท้อง มีแผลหรืออาการปวดต่างๆ ยาที่แนะนำให้พกติดตัวไปด้วยคือ
กลุ่มลดไข้/แก้ปวด
#Paracetamol syrup เลือกยี่ห้อที่ลูกทานได้ เพราะรสชาติแต่ละยี่ห้อไม่เหมือนกัน ขนาดที่ให้ลูกทาน จำง่ายๆ กรณีขนาด 120 ml/5 ml คือ 0.5 ml = 1 กิโลกรัม เช่น ลูกหนัก 8 kg x 0.5 ml = 4 ml ค่ะ
#แผ่นแปะลดไข้ ถ้าเป็นที่บ้านเราจะสามารถเช็ดตัวลดไข้ได้ง่าย แต่ถ้าตอนเดินทาง พกไว้มีประโยชน์ค่ะ
#ปรอทวัดไข้ เผื่อใช้ในการตรวจ ติดตามไข้ของลูกน้อย อาจใช้แบบวัดที่หูหรือวัดที่รักแร้ ถ้าวัดหูใช้ค่านั้นได้เลย ถ้าวัดที่รักแร้เอาค่าที่ได้ + 0.3-0.5 องศา ถ้ามากกว่า 37.8 องศา ถือว่ามีไข้ค่ะ
#ยาแก้ปวด (optional) Ibuprofen ขนาด 100mg/5ml กรณี 10 กิโลกรัม ให้ทาน ครึ่ง-หนึ่งช้อนชา
กลุ่มแก้แพ้
#ยาแก้แพ้ ที่ใช้กับบ่อยคือยา Zyrtec syrup หรือ CPM Syrup ตัว CPM Syrup จะง่วงมากกว่า
#น้ำเกลือล้างจมูก อาจใช้ Syrinx กับน้ำเกลือปกติหรือ แบบเป็นกระเปาะ เช่นยี่ห้อ Hashi clear ก็ได้
#สเปร์พ่นจมูก เพื่อลดอาการคัดจมูก อาจเลือกเป็นยี่ห้อ Sinomarin เนื่องจากค่อยข้างง่ายและปลอดภัยในการใช้งาน
กลุ่มลดอาการไอ
ปกติลูกมักจะไอ จากน้ำมูกไหลลงคอทำให้เกิดเป็นเสมหะ โดยส่วนใหญ่จึงไม่จำเป็นต้องทานยาแก้ไอ กรณีไอมาก อาจทานเป็น Flemex syrup 250ml/5ml ถ้าลูกหนัก 10 กิโลกรัม ทานครั้งละ 2 ซีซีสามเวลา
กลุ่มยาทาผื่น
#ยากลุ่มสเตอรอยด์ เช่น 0.02%TA cream สำหรับทาผื่นแพ้แบบสัมผัสหรือ Eczema
#ยากลุ่มแก้แพ้ Antihistamine เช่น CPM lotion
#ยาแก้คัน (Optional) เช่น Calamine lotion
กลุ่มทางเดินอาหาร
#ลดอาการท้องอืด แนะนำยา Simethicone เพื่อลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ที่เจอได้บ่อย ขนาดยา Simetricone 40mg/0.6 ml ถ้าต่ำกว่า 2 ขวบให้ทาน 20 mg หรือ 0.3 ml
#ยาแก้ปวดท้องบิดเกร็ง Buscopan 5mg/5ml ปกติแนะนำที่ 6 ขวบขึ้นไป ถ้าจำเป็นให้ทานขนาด ครึ่งช้อนชาถ้าน้อยกว่า 1 ขวบ หรือ 1 ช้อนชา ถ้าอายุ 1-3 ขวบ
#เกลือแร่ แนะนำเป็น ORS ชงทานสำหรับเด็ก
#ยาลดอาการท้องผูก เวลาเดินทาง การทานอาหารของลูกไม่ได้เหมือนอยู่ที่บ้าน อาจทำให้ลูกมีอาการท้องผูกได้ แนะนำเตรียมยาไปด้วยจะสบายใจค่ะ เตรียมเป็น Lactulose หรือ Dulcolac ขนาด 5-10 ซีซีต่อวัน
#ยาลดอาการคลื่นไว้อาเจียน (optional) กรณีที่ลูกมีอาการทางทางเดินอาหาร อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ ยาที่ใช้ได้คือ Motilium Syrup กรณี 10 กิโลกรัม ทาน 2.5 ซีซี ก่อนอาหาร 3 เวลา
กลุ่มทำแผล (เผื่อผู้ใหญ่ด้วย)
#เบต้าดีน ทำแผล
#น้ำเกลือทำแผล
#ชุดทำแผล อุปกรณ์ปิดแผล
#ครีมทาแผลน้ำร้อนลวก แนะนำ Silver cream ทาสามารถทาลดอาการจากแผลน้ำร้อนลวกได้
กรณีลูกน้อยมีโรคประจำตัว ต้องทานยาเป็นประจำ คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลก่อนเดินทางทุกครั้งนะคะ เพื่อที่คุณหมอจะได้จัดยาให้เพียงพอในการเดินทาง และอาจมียากรณีมีอาการกำเริบขึ้นมาค่ะ
หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่ในการเตรียมพร้อมในการเดินทางนะคะ
📌 วิตามินบำรุงก่อนท้อง/ วิตามินบำรุงครรภ์/ วิตามินบำรุงหลังคลอด/ ของใช้แม่และเด็ก/ ของเล่นเสริมพัฒนาการ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)
Commentaires