top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

อาการแพ้ท้องคืออะไร? วิธีลดอาการแพ้ท้อง สำหรับคุณแม่มือใหม่ (Morning sickness)

อัปเดตเมื่อ 11 ธ.ค. 2566

อาการแพ้ท้อง เป็นอาการที่แม่ๆ สามารถมีได้ตั้งแต่ช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ชื่อภาษาอังกฤษเราจะเรียกว่า Morning sickness แต่อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งวันไม่ใช่เฉพาะแค่ช่วงเช้า แล้วอาการแพ้ท้องเกิดได้อย่างไร? มีอาการแบบไหน? แล้วมีวิธีไหนบ้าง ที่จะช่วยลดอาการแพ้ท้องได้บ้าง วันนี้ไปติดตามกันได้เลยค่ะ


อาการแพ้ท้องเกิดจากอะไร?


ยังไม่มีใครสามารถอธิบายกลไลการเกิดอาการแพ้ท้องได้อย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ ทั้ง HCG, เอสโตรเจน และ โปรเจนเตอโรน โดยจะพบได้บ่อยในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ และมักจะมีอาการดีขึ้นหลังพ้นไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ โดยอาการแพ้ท้องจะแตกต่างไม่เหมือนกันในแต่ละคน และอาจไม่เหมือนกันในแต่ละท้องด้วย บางคนอาจไม่มีอาการเลย หรือ บางคนอาจมีอาการตลอดการตั้งครรภ์ก็ได้


เชื่อว่าอาการแพ้ท้องมักจะมีอาการที่แย่ลง จากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ และมักจะเป็นมากในช่วงเช้า จึงเป็นที่มาของคำว่า Morning sickness


อาการของการแพ้ท้อง


อาการแสดงของอาการแพ้ท้องคือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เหนื่อย อ่อนเพลีย อาจทำให้มีอาการเบื่ออาหาร หรือ อาหารได้น้อยลง หลายคนจะกังวลว่าอาจมีผลต่อการเติบโตของทารกในครรภ์ แต่ความจริงแล้วในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ทารกจะได้สารอาหารถุงไข่แดง (York sac) และสารอาหารสะสมของมารดา ดังนั้น อาการแพ้ท้องจึงไม่ส่งผลต่อการเติบโตของทารกมากนัก


อย่างไรก็ตาม หากแม่ๆ มีอาการแพ้ท้องอย่างรุนแรง หรือ Hyperemesis gravidarum เป็นอาการที่ควรระวังและควรปรึกษาแพทย์ อาการต่างๆ เหล่านั้นคือ

  • อาเจียนอย่างรุนแรงจนมีภาวะขาดน้ำ

  • ทานอาหารไม่ได้จนมีภาวะขาดน้ำ

  • น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว

  • ปัสสาวะสีเข้ม

  • หน้ามือ เป็นลม

  • อาเจียนเป็นเลือด

  • อ่อนเพลียอย่างมาก

หากคุณมีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา การรักษาอาการแพ้ท้องรุนแรงหรือ Hyperemesis gravidarum สามารถทำได้ด้วยการให้ยา และสารน้ำทางหลอดเลือดดำ


เทคนิคลดอาการแพ้ท้อง

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ ดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหารให้เพียงพอ

  • ทานมื้อเช้า

  • ทานน้ำขิง หรือผลิตภัณฑ์จากขิง

  • นอนพักในเพียงพอ

  • เลี่ยงอาหารที่ทำให้คลื่นไส้

  • เลี่ยงอาหารไขมันสูง หรือ อาหารย่อยยาก

  • กินอาหารมื้อเล็กๆ แต่กินบ่อยๆ อาจแบ่งย่อยเป็น 6 มื้อ

  • ทานวิตามิน Prenatal ให้เพียงพอ

  • ใส่เสื้อผ้าที่สบายๆ

หากคุณทำวิธีต่างๆ แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที แพทย์อาจรักษาโดยการให้ยาลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ยาลดกรด หรือวิตามินบี 6 ที่สามารถลดอาการแพ้ท้องได้


อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น อาการแพ้ท้องต่างๆ มักจะดีขึ้น หลังพ้นไตรมาสแรก หลัง 16-20 สัปดาห์ มักไม่มีอาการแพ้ท้องแล้ว หากแม่ๆ ยังมีอาการแพ้ท้องอยู่ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม เนื่องจากอาจส่งผลต่อการเติบโตของทารกในครรภ์ได้ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องอาหารลดอาการแพ้ท้อง)


ช่วงนี้ แม่ๆ ต้องดูแลสุขภาพดีๆ นะคะ ขอให้สุขภาพแข็งแรงทั้งแม่และลูกค่ะ


แล้วมาติดตามกันใหม่ในบทความหน้านะคะ


วิตามินบำรุงครรภ์







เขียนโดย


พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ (Tantawan Jomkwanjai. MD) drnoithefamily


#อาการแพ้ท้อง #ทำอย่างไรให้อาการแพ้ท้องดีขึ้น #รักษาอาการแพ้ท้อง



ดู 2,556 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page