แผ่นตรวจไข่ตก หรือ Ovulation predictor kit เป็นเครื่องมือที่ดีมาก ในการช่วยหาวันไข่ตก แต่หลายๆ คนยังใช้งานไม่ถูกต้อง หรือยังไม่เข้าใจวิธีการใช้งานที่แท้จริง และมีหลายๆ คำถาม ที่ยังค้างคาใจ วันนี้หมอหน่อยจะมาตอบคำถามหลายๆ คำถามที่ทุกคนสงสัยค่ะ
1.แผ่นตรวจไข่ตกคืออะไร?
แผ่นตรวจไข่ตก จริงๆ แล้วใช้ตรวจหาฮอร์โมน LH ซึ่งฮอร์โมน LH จะสูงที่สุด ประมาณ 12-36 ชั่วโมงก่อนไข่ตก ซึ่งเป็นช่วงที่มีโอกาสท้องสูงที่สุด ดังนั้น หากสามารถหาช่วงที่ LH สูงสุดได้ จะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะมีลูกสำเร็จได้ง่ายขึ้น เนื่องจาก สามารถปฏิบัติการได้ในช่วงที่มีโอกาสท้องสูงสุดนั้นเอง
2. ควรเริ่มตรวจแผ่นตรวจไข่ตกเมื่อไหร่?
แผ่นตรวจไข่ตก ควรเริ่มตรวจ 4-5 วัน ก่อนวันที่คาดการณ์ว่าไข่จะตก หรือประมาณหลังประจำเดือนหมด 3-4 วัน และตรวจทุกวันไปเรื่อยๆ จนพบช่วงที่ Positive หรือ ช่วงที่ LH สูงที่สุด โดยแนะนำให้ตรวจช่วงสายหรือบ่าย โดยควรตรวจเวลาใกล้เคียงกันทุกครั้ง กรณีประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ อาจต้องใช้เวลาในการตรวจนานขึ้น แต่ส่วนใหญ่มักจะทราบผลใน 10 วันหลังการตรวจ
3. ตรวจอย่างไร?
การตรวจแผ่นตรวจไข่ตกขึ้นกับชนิดของแผ่นตรวจ ซึ่งขั้นตอนการตรวจคร่าวๆ ไม่แตกต่างกัน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในเรื่อง "แผ่นตรวจไข่ตก"
4. แปลผลอย่างไร?
แผ่นตรวจไข่ตก สามารถขึ้น 2 ขีดจางๆ ได้ตลอด เนื่องจากร่างกายของเราสร้างฮอร์โมน LH ตลอดทั้งเดือน ดังนั้นแผ่นตรวจไข่ตก จะถือว่า Positive ต่อเมื่อแถบ 2 แถบเข้มเท่ากัน หรือแถบล่าง T (Test) เข้มมากกว่าขีด C (control) เท่านั้น
5. ตรวจแผ่นตรวจไข่ตก แล้ว Positive ต่อเนื่องมากกว่า 2 วัน หมายความว่ายังไง?
แผ่นตรวจไข่ตกสามารถ Positive มากกว่า 1 วันได้ ซึ่งสามารถ Positive ได้ถึง 3-5 วัน แต่เรามักจะนับวันแรกที่ Positive เป็นวันจริง แต่สามารถปฏิบัติภารกิจต่อเนื่องไปได้เลยค่ะ
6. แผ่นตรวจไข่ตก Positive หมายถึงไข่ตกแน่ๆ ใช่หรือไม่?
ไม่ใช่ แผ่นตรวจไข่ตก บอกแค่ว่า มีช่วงที่ LH สูงที่สุด แต่ไม่ได้การันตีว่า ไข่ตกจริงหรือไม่ เช่น กลุ่มคนที่มีปัญหา PCOS อาจเจอแผ่นตรวจ LH positive ได้หลายครั้ง แต่ไข่ไม่ตกได้ หรือ LH กระตุ้นให้ไข่ตก แต่ไข่ไม่สามารถตกออกมาได้ การยืนยันไข่ตก อาจต้องใช้การวัดอุณภูมิกายขณะพักเข้าช่วย (อ่านเพิ่มเติมเรื่องอุณหภูมิกายขณะพัก)
7. ตรวจแผ่นตรวจไข่ตกแต่ ไม่เคย Positive เลยเป็นเพราะอะไร?
สาเหตุที่ตรวจไม่เคยเจอแผ่นตรวจไข่ตก Positive เลยมีหลายสาเหตุ สาเหตุที่พบได้บ่อยได้แก่
ไข่ไม่ตกจริง อาจจะมีปัญหาไข่ไม่ตกเรื่อรัง หรือเป็นช่วงที่ไข่ไม่ตก อาจจะเพราะความเครียด หรือการเจ็บป่วยก็เป็นได้
ตรวจช้าเกินไป อาจพ้นช่วงที่ LH สูงสุดไปแล้ว
ตรวจไม่เจอช่วงที่ LH สูงสุด เนื่องจากในบางคน LH จะสูงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ อาจจะไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น อาจจะพลาดช่วงเวลาที่ LH positive ไป ดังนั้นในช่วงที่ LH เริ่มเข้มขึ้น ควรเพิ่มเวลาการตรวจเป็น 2 ครั้งต่อวัน
ตรวจผิดวิธี อาจจะตรวจปัสสาวะแรกทำให้ระดับ LH ยังต่ำอยู่ หรือ ดื่มน้ำมากทำให้ปัสสาวะเจือจางจนระดับ LH ในปัสสาวะลดลงจนตรวจไม่เจอ
ในกรณีแบบนี้ คำแนะนำคือ ให้ใช้สัญญาณอื่นๆ ในการดูวันไข่ตกเข้าช่วย เช่น การดูมูกไข่ตก หรือ การวัดอุณหภูมิกายขณะพัก ที่จะช่วยในการหาวันไข่ตกได้ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องการหาวันไข่ตก)
8. ตรวจเจอไข่ตกตลอด ทำการบ้านวันที่แผ่นตรวจไข่ตก Positive ตลอดทำไมไม่ท้องซักที?
เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้ท้องสำเร็จต้องประกอบด้วยหลายปัจจัย ไข่ต้องแข็งแรง สเปิร์มต้องแข็งแรง ท่อนำไข่ต้องดี ผนังมดลูกต้องดี และมีสาเหตุอีกหลายอย่างที่ทำให้ไม่ท้อง (อ่านเพิ่มเรื่องทำไมไม่ท้องซักที) และตามสถิติแล้วในช่วงวัย 20-30 ปี โอกาสท้องสำเร็จ 20-25% ต่อเดือน และจะลดลงเรื่อยๆ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น หากอายุน้อยกว่า 35 ปี พยายามมีลูกมากกว่า 1 ปี แล้วยังไม่สำเร็จ หรืออายุมากกว่า 35 ปี พยายามมามากกว่า 6 เดือนแล้วยังไม่สำเร็จ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติม
9. ใช้แผ่นตรวจแบบไหนดี?
แผ่นตรวจไข่ตกตามท้องตลาดมีหลายยี่ห้อ สามารถเลือกใช้ตามความสะดวกได้เลยค่ะ แต่แผ่นตรวจไข่ตกบางชนิดจะมีความแม่นยำ และมีตัวช่วยอื่นๆ ในการแปลผลหรือติดตามหาวันไข่ตกได้ เช่น แผ่นตรวจไข่ตกอัจฉริยะยี่ห้อ Easy@home ที่สามารถใช้ร่วมกับ Application "Premom" ช่วยแปลผลได้ สำหรับแผ่นตรวจไข่ตกที่มีราคาแพงบางชนิดเช่นยี่ห้อ Clearblue อาจสามารถตรวจฮอร์โมน Estrogen และ LH ได้ทั้งคู่ ทำให้ความแม่นยำเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หลักการใช้งานก็เพื่อต้องการหาช่วงเวลาที่มีโอกาสท้องสูงเท่านั้น
10. ทำอย่างไรจะเพิ่มโอกาสท้องได้มากที่สุด หลังการใช้แผ่นตรวจไข่ตก
กรณีที่เริ่มตรวจแผ่นตรวจไข่ตก แล้วแถบเริ่มเข้มขึ้น หรือใน Application ให้ความเห็นว่าเป็นช่วงที่มีโอกาสท้องแล้ว สามารถที่จะเริ่มทำการบ้านได้เลย โดยอาจทำการบ้านวันเว้นไปเรื่อยๆ จะพ้นช่วง LH สูงสุดไปแล้ว 2-3 วัน เพื่อให้มีสเปิร์มเติมเต็มที่ท่อนำไข่อยู่ตลอดเวลา เพียงเท่านี้เดือนนั้น ก็เพิ่มโอกาสให้แม่ๆ พ่อๆ มีโอกาสสำเร็จสูงแล้วค่ะ
หวังว่าบทความนี้คงเป็นปประโยชน์และสามารถตอบคำถามของแม่ๆ ได้นะคะ แล้วมาพบกันได้ใหม่ในบทความหน้าค่ะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD) Dr, Noi The Family
Comments