ถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือ PCOS (Polycystic ovary syndrome) เป็นความผิดปกติของฮอร์โมนระบบสืบพันธุ์ที่พบได้บ่อยที่สุดคือพบได้สูงถึง 5-10% ของหญิงวัยเจริญพันธุ์ เป็น 1 ใน 3 ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากจากที่ไข่ไม่ตก (Anovulatory infertility) แล้วภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบคืออะไร? เมื่อไหร่ควรสงสัยว่ามีภาวะ PCOS ? PCOS รักษาอย่างไร? แล้วถ้าคนที่เป็น PCOS อยากมีลูกต้องทำอย่างไร? วันนี้เราจะไปหาความรู้กันค่ะ
PCOS เกิดจากสาเหตุใด?
สาเหตุของการเกิด PCOS ยังไม่เป็นที่ระบุชัดเจน บางการศึกษาเชื่อว่ามีส่วนจากพันธุกรรม รวมถึงเชื้อชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีความผิดปกติของหลายระบบเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่ แต่ความผิดปกติหลักที่พบคือ ภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin resistance)และภาวะฮอร์โมนเพศชายสูง (Hyperandrogenism)
ส่งผลให้การทำงานของฮอร์โมนเพศผิดปกติ คือ LH, testosterone สูงขึ้น และ FSH ต่ำลง ซึ่งเชื่อว่ากลไกหลักที่ทำให้เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนต่างๆ คือภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin resistance) และ ฮอร์โมนเพศชายสูง (Hyperandrogenesis)
การวินิจฉัยของ PCOS อาศัยเกณฑ์ 2 ใน 3 ข้อคือ
1. ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง : อาจมีภาวะขาดประจำเดือน หรือ ประจำเดือนห่าง คือรอบเดือนมากกว่า 35 วัน หรือมีรอบเดือนน้อยกว่า 9 ครั้งต่อปี หรือ ประจำเดือนไม่มาติดกันเกิน 3 เดือนในคนที่ประจำเดือนเคยมาตามปกติ อย่างไรก็ตามอาจพบประจำเดือนมามาก มานานหรือมากระปิดกระปอยได้ในบางรายที่มีการหนาตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกผิดปกติจากภาวะ Unopposed estrogen
2. มีฮอร์โมนเพศชายสูง โดยที่อาจจะแสดงอาการทางคลินิกหรือตรวจพบฮอร์โมนเพศชายในเลือดสูงอาการที่พบได้บ่อยคือ มีสิว ผิวมัน ขนดก ศีรษะล้านแบบเพศชาย (Androgen alopecia) โดยถ้าตรวจระดับ Total testosterone จะสูงกว่าปกติของผู้หญิง (20-80 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร) แต่มักไม่เกิน 150 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร
3. ตรวจตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอด (Transvaginal ultrasound) พบว่ารังไข่มีถุงน้ำเล็กๆจำนวนมาก เรียงตัวกันที่ขอบนอกของรังไข่ มองดูคล้ายไข่มุก (String of pearls) โดยความผิดปกติทาง ultrasound อาจไม่ได้พบในทุกคน โดยสามารถพบได้ประมาณ 75% ของคนที่มีภาวะ PCOS โดยถุงน้ำรังไข่นี้ เป็นเหมือนอาการแสดงของของที่เป็น PCOS เนื่องจากการทำงานที่ผิดปกติของฮอร์โมน ไม่ได้เป็นสาเหตุของ PCOS
Credit from Beaches Obgyne
อาการอื่นๆ ที่ทำให้สงสัยภาวะ PCOS คือ ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) อ้วนลงพุง (central obesity) หรือ มีภาวะ metabolic syndrome หากใครมีอาการที่น่าสงสัยตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยวินิจยืนยันทันที เนื่องจากแพทย์จะต้องทำการแยกสาเหตุสำคัญอื่นๆ ก่อนการวินิจฉัยว่าเป็น PCOS
“PCOS เป็นหนึ่งในสาเหตของภาวะมีบุตรยากที่พบได้บ่อย แต่หากเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ก็จะสามารถเพิ่มโอกาสในการมีลูกได้สำเร็จค่ะ”
PCOS กับการตั้งครรภ์
PCOS เป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยากที่พบบ่อยที่สุดสาเหตุหนึ่ง เป็นผลมาจากภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง นอกจากนี้ภาวะอ้วนที่มักพบในคนที่เป็น PCOS ก็เป็นปัจจัยเสริมให้เกิดภาวะมีบุตรยากด้วย
ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์
คนที่ปัญหา PCOS จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes) ความเสี่ยงต่อภาวะครรภ์เป็นพิษ รวมถึงคลอดก่อนกำหนดด้วย ผู้ที่มีภาวะ PCOS จึงควรตรวจวัดความดันโลหิตและตรวจ Oral glucose tolerance ก่อนตั้งครรภ์
การรักษา PCOS
1. การปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตและลดน้ำหนัก (Lifestyle modification)
มีงานวิจัยยืนยันชัดเจน ว่าคนที่เป็น PCOS ที่มีน้ำหนักเกิน หากลดน้ำหนักเพียงแค่ 5-10% จะทำให้การตอบสนองต่ออินซูลินดีขึ้น ไข่ตกดีขึ้น ประจำเดือนปกติขึ้น ลดฮอร์โมนเพศชาย เพิ่มอัตราตั้งครรภ์และลดอัตราแท้งได้
อาหาร: การลดอาหารที่มีรสหวานมีความสำคัญมาก สามารถช่วยให้ภาวะดื้ออินซูลินดีขึ้น โดยงดอาหารที่มี High glycemic index เลือกกินอาหารที่เป็น low glycemic index มีงานวิจัยบางฉบับพูดถึง Ketogenic diet ว่าอาจมีประโยชน์ในการลดน้ำหนักในคนที่เป็น PCOS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การออกกำลังกาย: คนที่เป็น PCOS ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้ภาวะดื้ออินซูลินดีขึ้น โดยมีงานวิจัยพบว่า คนที่เป็น PCOS แล้วออกกำลังสม่ำเสมออย่างน้อย 1-2 ชั่วโมงต่อวันแม้ว่าจะไม่สามารถควบคุมอาหารได้ดีมาก ก็สามารถลดน้ำหนักตามเป้าหมายได้เช่นกัน
2. การรักษาโดยการใช้ฮอร์โมน
เหมาะสำหรับคนที่ยังไม่วางแผนจะตั้งครรภ์ โดยการรักษาโดยการใช้ฮอร์โมน มีทั้งแบบฮอร์โมนรวม และฮอร์โมนเดี่ยว โดยชนิดฮอร์โมนรวมจะช่วยทำให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติ ป้องกันเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญหนาผิดปกติ และยังสามารถลดอาการของภาวะฮอร์โมนเพศชายเกินได้ด้วย โดยฮอร์โมนที่นิยมใช้จะใช้ในรูปแบบของยาคุมกำเนิด
3. ยาที่ช่วยเพิ่มการตอบสนองต่ออินซูลิน (Insulin sensitizing drugs)
ได้แก่ Metformin โดยลดการสร้างกลูโคส เพิ่มการตอบสนองของเนื้อเยื่อต่ออินซูลิน ลดระดับ androgen ทำให้สามารถลดอาการแสดงของเพศชาย ลดโอกาสเกิดโรคเบาหวานได้
การรักษาภาวะมีบุตรยากใน PCOS
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการลดน้ำหนักและการปรับเปลี่ยน Lifestyle แนะนำให้ทำเป็นสิ่งแรกเมื่อต้องการรักษาภาวะมีบุตรยาก
การกระตุ้นไข่ (Ovulation induction)
ยาที่เลือกใช้เป็นอันดับแรกในการกระตุ้นไข่ในคนที่เป็น PCOS คือ Clomiphene citrate หรือ Clomid โดยใช้ขนาด 50-150 มิลลิกรัมต่อวันขึ้นอยู่กับการตอบสนองของไข่ โดยจะให้เป็นรอบ รอบละ 5 วัน โดย Clomiphene citrate มีประสิทธิภาพทำให้เกิดการตั้งครรภ์ประมาณ 22% ต่อรอบเดือน แต่ไม่ควรใช้เกิน 6 รอบ ถ้าไม่ได้ผลควรเปลี่ยนการรักษา ข้อควรระวังในการใช้ยานี้อาจเกิดกลุ่มอาการรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป (Ovarian hyperstimulation syndrome) และเกิดครรภ์แฝดได้ การใช้ยาชนิดนี้ควรอยู่ในคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
Metformin
ช่วยกระตุ้นให้เกิดการตกไข่โดยลดระดับอินซูลิน และลดการสร้างฮอร์โมนเพศชาย แต่การใช้ยา Metformin ตัวเดียวในการรักษาผู้มีบุตรยาก พบว่าพบว่ามีประสิทธิภาพด้อยกว่าการใช้ Clomiphene citrate ควรใช้ Metformin ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อ Clomid หรือมีภาวะดื้ออินซูลินร่วมด้วย
Gonadotropins
สามารถกระตุ้นไข่ได้มากกว่า Clomiphene citrate แต่มีราคาแพง ไม่สะดวกในการใช้เพราะเป็นรูปแบบฉีด อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนคือ กลุ่มอาการรังไข่ถูกกระตุ้นมากเกินไป และเกิดครรภ์แฝดได้มากกว่า Clomid ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (Assisted reproductive tecnologies หรือ ART)
หากการใช้ยา ร่วมกับการปรับเปลี่ยน Lifestyle ไม่ได้ผล อาจจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีช่วยให้มีบุตร ซึ่งในปัจจุบันมีเทคโนโลยีหลายแบบที่อาจช่วยให้ประสบความสำเร็จในการมีบุตรได้ เช่น
Intra-Uterine Insemination : IUI โดยการฉีดน้ำเชื้อเข้าโพรงมดลูกโดยตรงในช่วงที่ไข่ตก
In Vitro Fertiization : IVF หรือเด็กหลอดแก้ว
Intracytoplasmic Sperm Injection : ICSI คือการฉีดสเปิร์มเข้าไปในไข่โดยตรง
ซี่งแต่ละวิธีจะมารายละเอียดที่แตกต่างกัน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาภาวะมีบุตรยากค่ะ
วิตามินตัวช่วยคนที่มีภาวะ PCOS
แม้ว่าภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบหรือ PCOS จะเป็นภาวะที่เป็นปัญหาทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก แต่หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ทำให้ไข่กลับมาตกได้ ก็มักจะประสบความสำเร็จไม่แตกต่างจากกลุ่มคนปกติ เพียงแต่ต้องมีความพยายามและอดทนค่ะ ถ้าสามารถลดน้ำหนักได้ ไม่เพียงแต่จะทำให้มีโอกาสตั้งท้องได้ง่ายขึ้น และจะทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นด้วยค่ะ
Tantawan Prasopa. MD (พญ. ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily
#ถุงน้ำรังไข่หลายใบ #PCOS #drnoithefamily #fertility #อยากมีลูก #เตรียมตัวก่อนท้อง #ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบกับการมีลูก #PCOSกับการมีบุตร
Comments