top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

7 กิจกรรมกระตุ้นพัฒนาการ เล่นกับลูกในวัย 3-6 เดือน (Play with 3-6 months baby)

ลูกน้อยในวัย 3 เดือนหรือ 90 วัน แม้จะดูเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่เชื่อหรือไม่ว่า พัฒนาการของลูกน้อยมาไกลกว่าที่คุณพ่อคุณแม่จะนึกถึง ช่วงเวลา 3-6 เดือนเป็นช่วงเวลาที่ลูกน้อยเริ่มที่จะสนใจการเล่น หรือกิจกรรมมากขึ้น รวมถึงเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคุณพ่อคุณแม่ หรือคนเลี้ยงมากขึ้น แล้วในวัยนี้ลูกน้อยมีพัฒนาอะไรบ้าง แล้วมีกิจกรรมอะไรบ้างที่สามารถส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยได้ วันนี้หมอหน่อยมาแชร์ความรู้ให้คุณพ่อคุณแม่อีกเช่นเคยค่ะ


พัฒนาการช่วง 3-6 เดือน


ช่วง 3-6 เดือนพัฒนาการของลูกที่จะสามารถสังเกตุได้คือ

  • มองตามได้ เช่น มองตามคุณพ่อคุณแม่

  • ยกศีรษะได้มากขึ้นเวลาทำ Tummy time สามารถใช้มือดันหน้าอกขึ้นได้เวลาทำ Tummy time

  • ยิ้มและหัวเราะเก่งขึ้น

  • เริ่มใช้มือคว้าของ บางทีอาจเริ่มเอาเข้าปาก

  • เริ่มออกเสียง

  • เริ่มสนใจสังคม จดจำคนเลี้ยงได้

  • ชอบที่จะเตะสิ่งของต่างๆ ใช้ขามากขึ้น

  • พลิกตัวได้ อาจพลิกจากหงายเป็นคว่ำ หรือคว่ำเป็นหงาย

  • เริ่มนั่งแบบท่า Tripod ได้ นั่งแบบใช้ตัวช่วย หรืออาจนั่งด้วยตัวเองได้

กิจกรรมสำคัญกับลูกอย่างไร?


ช่วง 3-6 เดือน สมองของลูกมีการเรียนรู้ ซึมซับสิ่งต่างๆ เหมือนฟองน้ำ กิจกรรมในแต่ละวัน จะช่วงให้สมองของลูกมีการเชื่อมโยงและพัฒนา รวมถึงกระตุ้นพัฒนาการของลูกด้วย


ของเล่นที่ดีที่สุดที่จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูกคือ คุณพ่อ คุณแม่ นั่นเอง การเล่นกับลูก เป็นเหมือนการกระตุ้นพัฒนาการของลูกในทุกๆ วัน อย่างไรก็ตาม ของเล่นตามช่วงวัย อาจมีประโยชน์ในการช่วยให้ลูกน้อยสนุกสนาน และเล่นได้นานขึ้น


กิจกรรมที่สามารถเล่นกับลูกได้ในช่วง 3-6 เดือนคือ


1. การพูดคุย ร้องเพลง อ่านหนังสือให้ลูกฟัง


การที่คุณพ่อคุณแม่ พูดคุย อ่านหนังสือ หรือร้องเพลง เป็นกิจกรรมที่ลูกน้อยชอบมาที่สุด ลูกชอบเสียงของเรามากกว่าทุกเสียงในโลกนี้ การใช้เวลาทำกิจกรรมเหล่านี้กับลูกจะเสริมสร้างความไว้ใจ ความรักที่ลูกมีให้ การได้ยินคำศัพท์ต่างๆ จะช่วยให้ลูกน้อยเรียนรู้ทางภาษามากขึ้น และฝึกที่จะโต้ตอบสนทนากับคุณพ่อคุณแม่ได้


2. การเล่นจ๊ะเอ๋


การเล่นจ๊ะเอ๋หรือ Peek a poo เป็นการเล่นง่ายๆ ที่ทรงประสิทธิภาพมากอย่างหนึ่ง ลูกอาจจะเริ่มเรียนรู้การเล่นจ๊ะเอ๋ตั้งแต่ 2-3 เดือน ประมาณ 5-6 เดือน ลูกจะเริ่มชอบการเล่นนี้มากขึ้น ทำให้ลูกเรียนรู้ว่า สิ่งของมีอยู่จริง แม้ว่าจะมองไม่เห็นก็ตาม


3. การทำ Tummy time


การทำ Tummy time ยังมีประโยชน์เสมอ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องการทำ Tummy time) ในวัยนี้ลูกจะเริ่มยกคอ ยกตัวมากขึ้น จึงสามารถพัฒนาการเล่น tummy time มากขึ้นได้ เช่น การหาของเล่นมาให้ลูกเล่น การให้มองกระจก การวางของเล่นให้ห่างจากตัว เพื่อให้ลูกลองคว้า ซึ่งการทำ Tummy time นี้จะสามารถเป็นการกระตุ้น ให้ลูกพัฒนาไปเป็นการคลาน ในขั้นตอนถัดไป


4. ให้เท้าลูกได้สัมผัสลักษณะผิวที่แตกต่าง


ในวัยนี้เป็นวันที่เรียนรู้จัก มือ เท้าของตัวเอง จะสังเกตุว่าลูกจะเริ่มยกเท้าของตัวเองมาอม ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ อาจช่วยกระตุ้นพัฒนาด้วยการให้เท้าลูกได้สัมผัสกับลักษณะผิวที่แตกต่าง เช่น น้ำ หญ้า ดิน นุ่น พื้นที่เย็น พรม เป็นต้น การที่ลูกได้สัมผัสสิ่งของต่างๆ จะช่วยให้พัฒนาการด้านการสัมผัสของลูกดีขึ้นกว่าดี


5. ให้ลูกได้สัมผัสของเล่นที่ลูกร่างแตกต่างกัน


ในวัยนี้ ลูกจะเริ่มพยายามคว้าของ เรียนรู้รูปร่างของสิ่งของที่แตกต่างกันออกไป และชอบเอาของเล่นเข้าปาก คุณพ่อคุณแม่ อาจลองหาของเล่นที่ปลอดภัย หรือยางกัดให้ลูก เพื่อให้ลูกสามารถฝึกจับ เรียนรู้รูปร่าง และสามารถทดลองนำเข้าปากได้ การทำกิจกรรมนี้ จะเป็นการฝึกการควบคุม การใช้มือ และการทำงานของสมองที่เชื่อมโยงการหยิบจับต่างๆ


6. ของเล่นที่มีเสียง


ในวัยนี้ ลูกจะชื่นชอบการได้ยินเสียงต่างๆ และเริ่มแสดงความสนใจต่อเสียงเหล่านั้น คุณพ่อคุณแม่ อาจเลือกของที่มีเสียงแตกต่างกัน ให้ลูกได้ศึกษา หรือ ของเล่นที่มีเสียงให้ลูกได้ลองขยับให้เกิดเสียง ลูกจะเรียนรู้เวลา เขย่าแล้วจะมีเสียง จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ในอีกหลายๆ เรื่องของลูกค่ะ


7. เล่น Flash card


เมื่อลูกพอที่จะนั่งพิงได้ อาจเป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่จะสามารถเล่น flash card กับลูกน้อยได้ ประโยชน์ของ Flash card คือสมองของลูกจะมีการเชื่อมโยงระหว่างซีกซ้ายและขวา และไม่ควรเน้นให้ลูกจำ อาจเล่นเพื่อความบันเทิงเท่านั้น และอาจใช้การ์ดเหล่านั้นพูดคุยกับลูก หรือเล่าเรื่องต่างๆ ให้ลูกฟังจะเกิดประโยชน์มากกว่าค่ะ


หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์และคุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปปรับใช้เล่นกับตัวเล็กได้นะคะ


เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)


#เล่นกับลูก #เล่นกับลูกวัย3-6เดือน #กิจกรรมเสริมพัฒนาการลูก









ดู 1,039 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page