top of page
  • YouTube
  • Facebook
  • Instagram
  • LinkedIn

เทคนิคการออกกำลังกายช่วงตั้งครรภ์ (Pregnancy-safe exercise)

รูปภาพนักเขียน: drnoithefamilydrnoithefamily

อัปเดตเมื่อ 27 มี.ค. 2566

ช่วงตั้งท้อง แม่ๆ มือใหม่หลายๆ ท่านอาจมีข้อสงสัยหลายๆ อย่าง อย่างนึงที่สำคัญมากคือการออกกำลังกาย สำหรับแม่ๆ ที่ออกกำลังกายมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นแบบ cardio หรือ weight training อาจมีข้อสงสัยว่า ยังสามารถทำได้เหมือนเดิมหรือไม่ วันนี้ มาดูกันว่า ออกกำลังกายแบบไหนจะปลอดภัยในช่วงตั้งครรภ์ และในแต่ละไตรมาส การออกกำลังกายแบบไหนเหมาะกับคุณแม่ค่ะ


ประโยชน์ของการออกกำลังกายช่วงท้อง


เป้าหมายของการออกกำลังกายในช่วงท้อง แน่นอนว่า ไม่ใช่การลดน้ำหนัก แต่เป็นการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงตลอดช่วง 9 เดือนนี้ ประโยชน์ของการออกกำลังกายในช่วงท้องมีมากมาย


การออกกำลังกายช่วงตั้งครรภ์ ลดการอัตราการเกิด

  • ลดการคลอดก่อนกำหนด

  • ลดอัตราการผ่าคลอด

  • ลดภาวะน้ำหนักเกิน

  • ลดภาวะเบาหวานช่วงตั้งครรภ์

  • ลดภาวะความดันโลหิตสูงช่วงตั้งครรภ์

  • ลดภาวะทารกน้ำหนักน้อย


นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ในเรื่องของ

  • เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่

  • ลดอาการปวดหลัง

  • ลดภาวะเครียดได้

  • ช่วยให้หลับสบาย

  • ช่วยให้ฟื้นตัวหลังคลอดได้ง่ายขึ้น


ออกกำลังให้ปลอดภัยช่วงท้องได้อย่างไร


แม้การออกกำลังกายจะมีประโยชน์หลายอย่าง แต่เนื่องจากสภาพร่างกายของคุณแม่ได้เปลี่ยนไปอย่างมากในช่วงท้อง เทคนิคในการออกกำลังกายให้ปลอดภัยในช่วงท้องคือ

  • ควรได้รับการอนุญาตจากแพทย์ที่ดูแล ว่าสามารถออกกำลังกายได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากในบางภาวะอาจมีข้อห้ามในการออกกำลังกาย เช่น ภาวะแท้งคุกคาม หรือ รกเกาะต่ำเป็นต้น

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ ก่อน/ ระหว่าง และหลังการออกกำลังกาย

  • ใส่เสื้อผ้าที่สบาย

  • หลีกเลี่ยงอาการที่ร้อนจนเกินไปโดยเฉพาะไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์

  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องนอนราบนานๆ โดยเฉพาะไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์

  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม

เริ่มต้นอย่างไรดี?


ถ้าคุณแม่เป็นคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้วยินดีด้วยนะคะ คุณแม่น่าจะมีความสุขในการออกกำลังกายต่อเนื่องค่ะ แต่ถ้าคุณแม่ไม่เคยออกกำลังกายเลย ก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะเริ่มออกกำลังค่ะ โดยอาจเริ่มที่ 10 นาที เพิ่มเวลาขึ้นเรื่อยๆ วันละ 5 นาที จนออกกำลังกายให้ได้ 30 นาทีต่อวัน โดยทำ 3-5 วันต่อสัปดาห์ ถ้าเป็นไปได้ อาจปรึกษา Trainer ผู้มีความเชี่ยวชาญในการออกกำลังกายเพื่อขอคำแนะนำค่ะ


การออกกำลังกายที่แนะนำในแต่ละไตรมาส


ไตรมาสที่ 1

  • การเดินเบาๆ

  • โยคะ หลีกเลี่ยงโยคะร้อน

  • Pilates

  • การว่ายน้ำ

  • weight training โดยละความหนักลงมา

  • Squats

ไตรมาสที่ 2-3

  • การเดิน

  • ว่ายน้ำ

  • โยคะสำหรับคนท้อง หลีกเลี่ยงโยคะร้อน

  • Pilates

  • ออกกำลังกายอุ้งเชิงกราน เช่น การ Squat

  • bodyweight ที่ไม่หนักจนเกินไป

ระหว่างการออกกำลังกาย ควรระวังไม่ให้หัวใจเต้นเร็วเกินไป โดยอัตราการเต้นของหัวใจ ควรอยู่ที่ 120-140 ครั้งต่อนาที และควรมีการ Warm up ก่อนออกกำลังกาย 5 นาที และ Cool down หลังการออกกำลังกาย 5-10 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อไม่ยึดตึง หลังการออกกำลังกายควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และอาจทานอาการว่างที่มีโปรตีนสูง



เทคนิคออกกำลังกายในช่วงท้อง


ควรหยุดออกกำลังกายเมื่อไหร่?


แม่ๆ ควรหยุดออกกำลังกายเมื่อ

  • รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน

  • มีอาการเวียนศีรษะ หน้ามืดเป็นลม

  • รู้สึกว่าอากาศร้อนเกินไป

  • รู้สึกเริ่มมีอาการขาดน้ำ

  • มีเลือดออกทางช่องคลอด

  • มีอาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน

การออกกำลังกายแต่ละประเภทต่างก็มีประโยชน์แตกต่างกัน เดี๋ยวเอาไว้หมอหน่อยค่อยมาลงรายละเอียดของการออกกำลังกายแต่ละชนิดอีกครั้งนะคะ


เขียนโดย


พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai. MD) Dr. Noi The family






#คนท้องออกกำลังกายได้หรือไม่ #การออกกำลังกายช่วงท้อง #ช่วงท้องออกกำลังกายยังไงดี

ดู 1,351 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


Thanks for submitting!

  • YouTube
  • Facebook
  • LinkedIn

© 2020 created by Tantawan Prasopa.MD

bottom of page