สัปดาห์ที่ 32 อยู่ในช่วงเดือนที่ 8 ของการตั้งครรภ์แล้วนะคะ อีกไม่นานคุณแม่จะได้เจอตัวเล็กแล้ว แต่ตอนนี้ก็ให้เค้าอยู่ในท้องคุณแม่ไปก่อนเนอะ ในสัปดาห์นี้ ลูกน้อยจะเป็นยังไงบ้างแล้ว ไปติดตามกันในบทความนี้ได้เลยค่ะ

Highlight
อวัยวะสำคัญต่างๆ พัฒนาเกือบจะสมบูรณ์ จะเหลือปอดที่ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ตอนนี้ลูกอาจเริ่มกลับหัว คือหัวของลูกจะหมุนลงล่างไปอยู่ตรงอุ้งเชิงกรานของคุณแม่
ผิวของลูกจะไม่ได้ใสเหมือนก่อนหน้านี้แล้วค่ะ
สัปดาห์นี้ลูกเป็นอย่างไร?
สัปดาห์นี้ลูกมีขนาดยาวประมาณ 17 นิ้ว หรือขนาดเท่าต้น Celary
พัฒนาการของลูก : สัปดาห์นี้ ยังเป็นสัปดาห์ที่ลูกได้มีการฝึกทักษะต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมสำหรับการออกมาใช้ชีวิตทางด้านนอก ไม่ว่าจะเป็น การฝึกหายใจ การฝึกกลืน การขยับตัว การเตะ การฟัง ลูกจะเก่งขึ้นเรื่อยๆ ในท้องของคุณแม่ค่ะ
ท่าของลูก : ในช่วง 2-4 สัปดาห์จากนี้ เป็นช่วงที่เริ่มจะพลิกตัวเอาหัวลงที่อุ้งเชิงกรานของคุณแม่ สาเหตุเนื่องมาจากมดลูกของคุณแม่ที่เป็นลูกแพร ทำให้ลูกรู้สึกสบายกว่าในการหันหัวลงทางด้านล่าง และทำให้การคลอดเกิดขึ้นได้ง่ายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พบว่าประมาณ 5% ของเด็ก ไม่หันหัวลงด้านล่าง แต่เป็นการหันก้นแทน ซึ่งคุณหมอจะมีวิธีการรับมือกับเรื่องนี้อีกทีค่ะ
สะสมสารอาหาร : ในช่วงเดือนนี้ หรือตั้งแต่สัปดาห์เป็นต้นไป ลูกจะเริ่มสะสมสารอาหารหรือเกลือแร่บางชนิด เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ลูกจะนำไปใช้ในช่วง 6 เดือนแรกของการมีชีวิต ก่อนที่จะเริ่มทานอาหารได้ ดังนั้น ตั้งแต่สัปดาห์นี้ แม่ควรให้ความสำคัญ กับสารอาหารที่คุณแม่ทานให้แต่ละวัน เพื่อให้ลูกสามารถเหลือไปสะสมได้ค่ะ
อาการของคุณแม่ในสัปดาห์ที่ 32
มีเลือดออกที่เหงือก (Bleeding Gum)
ในไตรมาส 3 เป็นช่วงที่มีการเพิ่มของฮอร์โมน Estrogen และ Progesterone สูงมาก ทำมีเลือดไหลเวียนไปที่ mucosa ได้ดี ทำให้บริเวณเหงือกที่เป็น Mucosa บอบบางและมีเลือดออกได้ง่าย แนะนำ ให้คุณแม่ใช้แปรงขนนุ่มแปรงเบาๆ แต่อาจให้เวลาแปรงฟันนานขึ้น หรือใช้น้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ร่วมด้วย เพื่อดูแลช่องปากคุณแม่ในช่วงที่ตั้งครรภ์
หัวนมสีคล้ำขึ้น
ฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ จะทำให้หัวนมคุณแม่มีสีคล้ำขึ้น จริงๆ คือความมหัสจรรย์ของธรรมชาติ เนื่องจากในช่วงแรกทารกจะมองเห็นสี ขาว-ดำ การที่หัวนมคุณแม่เป็นสีดำ จะทำให้ทารกมาองเห็นได้ชัดขึ้น และกินนมได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
เหนื่อยง่ายมากขึ้น
เนื่องจากท้องที่โตขึ้น ดันกระบังลม ทำให้การขยายหน้าอกเวลาหายใจ หรือเวลาพูดของคุณแม่จะลำบากมากขึ้น ส่งผลให้คุณแม่มีอาการเหนื่อยได้ง่ายมากขึ้นนั่นเองค่ะ
Tip สำหรับสัปดาห์นี้
แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็กๆ ทานบ่อยๆ แทนการทานมื้อใหญ่ เพื่อช่วยให้ไม่แน่นท้อง และสามารถลดอาการกรดไหลย้อนได้
นับลูกดิ้นเพื่อเช็คสุขภาพของลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ
ทานอาหารที่มีโภชนาการที่ดี โปรตีนสูง น้ำตาลต่ำ ควรทานโปรตีน 75-100 กรัมต่อวัน
ดูแลความสะอาดเรื่องชุดชั้นใน กางเกงใน เพื่อลดโอกาสที่จะติดเชื้อได้
เดินออกกำลังกายเบาๆ หรือ ออกกำลังกายบริเวณอุ้งเชิงกราน
ผ่านไปแล้ว 33 สัปดาห์ มาร่วมเดินทางไปสู่สัปดาห์ที่ 33 ไปด้วยกันนะคะ ขอให้คุณแม่และตัวเล็กมีสุขภาพที่แข็งแรงค่ะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)
Comments