อาการ Temper tantrum หรืออาการวัยทอง เป็นอาการที่พบได้บ่อยในวัย 1-4 ขวบ เนื่องจากสมองในการควบคุมอารมณ์ของลูกยังทำงานไม่เต็มที่ ทำให้การแสดงออกทางอารมณ์ของลูกค่อนข้างจะรุนแรง เช่น การร้องไห้ ทำลายของ หรือ การทำร้ายคนอื่น ซึ่งเทคนิคในการรับมือ หมอหน่อยได้เขียนไปในบทความก่อนหน้านี้ (รับมือกับอาการวัยทองของลูก) แต่จริงๆ อาการนี้สามารถป้องกันได้นะคะ วันนี้หมอหน่อยจะมาแนะนำแนวทางในการป้องกันอาการนี้ค่ะ
เทคนิคการป้องกันอาการวัยทองของลูก (Prevent temper tantrum)
ทำกิจวัตรประจำวันให้สม่ำเสมอ
เด็กๆ ชอบอะไรที่เป็นกิจวัตร ที่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ การทำอะไรที่เป็นกิจวัตรสม่ำเสมอ เช่น ทานข้าว นอนกลางวัน เข้านอน จะช่วยทำให้กิจวัตรทุกอย่างราบรื่นได้
ให้ลูกได้มีตัวเลือก
ในวัยมากกว่า 1 ขวบ ลูกจะเริ่มรู้ว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร บางครั้งลูกอาจรู้สึกถูกบังคับหากไม่ได้เลือก การให้ลูกได้เลือกบ้างจะช่วยลดอาการนี้ได้ เช่น อาจมีของ 2 อย่างให้เลือกทาน หรือเลือกเล่นเป็นต้น
ให้ลูกได้นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
ในวัย 1-4 ขวบ ลูกมักจะสนใจการเล่น จนบางครั้งลืมความง่วงไป แต่เรามีหน้าที่ในการจัดตารางการนอนให้เป็นเวลา เนื่องจากการที่ลูกไม่ได้พัก จะมีภาวะเหนื่อยสะสมทำให้เมื่อง่วงนอนมากๆ อาจทำให้เกิดอาการ temper tantrum ได้ และยากที่จะทำให้อาการสงบ
ให้ลูกได้ทานอาการตามเวลา
ลูกของเรามักจะไม่รู้สึกหิวเอง จนกระทั่งเห็นอาหาร เรามีหน้าที่ให้ลูกได้ทานอาหารตามเวลา เนื่องจากการที่ลูกหิวมากๆ มักจะทำให้เกิดอาการ temper tantrum ได้ง่ายเช่นกัน ดังนั้น อย่าให้ลูกหิวจัดนะคะ
ให้สัญญาณก่อนการเปลี่ยนกิจกรรม
ลูกมักจะไม่พอใจเมื่อ ถูกบอกให้หยุด หรือต้องออกจากที่ที่กำลังสนุก ดังนั้น ลูกมักจะเกิดอาการ temper tantrum ได้ง่าย หากต้องเปลี่ยนกิจกรรมในทันที เทคนิคในการป้องกันคือ การแจ้งลูกล่วงหน้า ว่าจะมีการหยุดเล่น หรือเปลี่ยนกิจกรรม เช่น เดี๋ยวเราจะเล่นต่ออีก 5 นาที แล้วเราจะไปทานข้าวนะคะ หรือ ฟังเพลงนี้จบเราจะไปอาบน้ำกันนะคะ เป็นต้น การแจ้งล่วงหน้าจะทำให้เค้าได้รู้ว่าอะไรจะกำลังจะเกิดขึ้น และสามารถเข้าใจได้ง่ายกว่า
หลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นอาการ
เด็กแต่ละคน อาจมีตัวกระตุ้นอาการ temper tantrum ที่แตกต่างกัน เช่น อาการง่วง อาการหิว ซึ่งหากเราพอจะเดาอาการได้ ให้พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจทำให้เกิดอาการเหล่านั้นล่วงหน้า จะช่วงลดอาการ temper tantrum หรืออาการวัยทองของลูกน้อยได้ค่ะ
หลีกเลี่ยงการห้าม
ลูกมักจะรู้สึกไม่พอใจหากถูกห้ามทำอะไรบ่อยๆ ให้เปลี่ยนมาเป็นการบอกว่าเค้าควรทำยังไงแทน เช่น เมื่อลูกกำลังจะปีนโต๊ะ หลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ห้ามปีนโต๊ะนะ เปลี่ยนเป็น โต๊ะมันสูงมากหากหนูปีนจะตกเป็นอันตรายได้ ให้แม่ช่วยอุ้มขึ้นหรือไปเอาบันไดมามั๊ยคะ? เป็นต้น การแนะนำว่า ควรทำให้เหมาะสมอย่างไร จะป้องกันอาการ temper tantrum และแนะแนวทางให้ลูกได้
ชื่นชมเมื่อทำความดี
เมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม และทำความดี ควรให้การชื่นชมบ่อยๆ เพราะ การที่เค้าเรียนรู้พฤติกรรมที่เหมาะสม เค้าจะเริ่มปรับมาใช้เมื่อเค้าเริ่มมีอารมณ์ของ temper tantrum และสามารถลดอาการเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราต้องเข้าใจคือ อาการวัยทอง เป็นหนึ่งในพัฒนาการที่ปกติของลูก ลูกอาจจะยังมีอาการเหล่านี้ได้ จนกว่าสมองส่วนที่สามารถควบคุมอารมณ์ เติบโตได้เต็มที่ ระหว่างนี้ เราควรเรียนรู้การรับมือที่เหมาะสมค่ะ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านค่ะ แล้วมาติดตามกันได้ใหม่ในบทความหน้านะคะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)
Comments