เพราะปัญหามีลูกยากมากกว่า 30% มาจากฝั่งฝ่ายชาย ดังนั้นการตรวจน้ำอสุจิ เพื่อดูคุณภาพและปริมาณของสเปิร์มจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม แล้วการตรวจน้ำอสุจิหรือตรวจสเปิร์มต้องทำเมื่อไหร่? ขั้นตอนการตรวจน้ำอสุจิต้องอย่างไร? ต้องแปลผลอย่างไร? บทความนี้มีคำตอบให้คุณค่ะ
การตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิคืออะไร?
การตรวจน้ำอสุจิหรือการตรวจสเปิร์ม เป็นการตรวจส่วนประกอบของน้ำอสุจิ รวมถึงคุณภาพโดยรวมของสเปิร์ม โดนการตรวจน้ำอสุจิจะวิเคราะห์ 3 อย่างหลักๆ คือปริมาณสเปิร์ม รูปร่างของสเปิร์ม และการเคลื่อนที่ของสเปิร์ม ทั้งยังมองหาภาวะการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยประโยชน์จากการตรวจวิเคราะห์น้ำอสุจิ คือ ช่วยในการหาสาเหตุภาวะมีบุตรยาก และติดตามหลังการทำหมันชายเพื่อดูว่ายังมีสเปิร์มในน้ำอสุจิหรือไม่
เมื่อไหร่ควรตรวจน้ำอสุจิ?
1. เมื่อพยายามมีลูกโดยมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอมามากกว่า 1 ปี แล้วยังไม่สำเร็จในคนที่ภรรยาอายุน้อยกว่า 35 ปี
2. เมื่อพยายามมีลูกโดยมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอมามากกว่า 6 เดือน แล้วยังไม่สำเร็จในคนที่ภรรยาอายุมากกว่า 35 ปี 3. ตรวจหลังทำหมันชาย เพื่อความมั่นใจว่าไม่มีสเปิร์มในน้ำอสุจิ โดยมักแนะนำให้ตรวจเดือนละครั้งเป็นเวลา 3 เดือนเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีสเปิร์มออกมาให้น้ำอสุจิ 4. สามารถตรวจได้เมื่อเริ่มวางแผนมีลูก ยิ่งตรวจเร็วจะยิ่งสามารถวิเคราะห์ปัญหาเรื่องการมีบุตรได้เร็ว
การเตรียมตัวก่อนเก็บน้ำอสุจิเพื่อส่งตรวจ
การเตรียมตัวก่อนไปเก็บน้ำอสุจิเพื่อตรวจคุณภาพของสเปิร์มเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากจะส่งผลต่อความถูกต้องของการแปลผล โดยขั้นตอนการเตรียมตัวคือ
งดการหลั่งอสุจิ 2-7 วัน ก่อนการตรวจน้ำอสุจิ
หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติด หรือการดื่มแอลกอฮอร์ 2-5 วัน
งดการทานยาสมุนไพรต่างๆ 2-5 วัน
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ขั้นตอนการตรวจน้ำอสุจิ
ปัสสสาวะก่อนการเก็บตัวอย่าง ล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศด้วยสบู่และน้ำสะอาด
ล้างมือให้สะอาด
ใช้ภาชนะสำหรับเก็บตัวอย่างน้ำอสุจิ แบบปราศจากเชื้อ
พยายามเก็บน้ำอสุจิทั้งหมดในภาชนะ หากน้ำอสุจิหกออกจากภาชนะ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบ เนื่องจากมีความสำคัญกับการแปลผล
เมื่อเก็บเรียบร้อย ให้ส่งห้องปฎิการทันที
กรณีเก็บตัวอย่างจากที่บ้านสามารถทำได้ แต่มีข้อจำกัดคือ
ต้องใช้ภาชนะเก็บตัวอย่างที่ปราศจากเชื้อเท่านั้น
ห้ามเก็บตัวอย่างผ่านถุงยางอนามัยทั่วไป
ควรส่งตรวจทางห้องปฎิบัติการภายใน 1 ชั่วโมง
เก็บตัวอย่างในอุณหภูมิ 20-37 องศาเซลเซียส
การแปลผลตรวจน้ำอสุจิ
1. ปริมาณน้ำอสุจิ (Semen volume) : เป็นผลรวมของน้ำอสุจิและสเปิร์ม ค่าปกติคือ มากกว่า 1.5 ซีซี หากมีปริมาณน้อยอาจมาจากการอุดตันของท่อนำอสุจิ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งในระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ
2. ความเป็นกรด-ด่าง (ค่า pH) : ค่าปกติคือ มากกว่า 7.2 ถ้ามีค่าน้อยกว่า 7 ร่วมกับปริมาณน้ำอสุจิน้อย อาจบ่งบอกว่ามีการอุดตันของท่ออสุจิบางส่วน
3. จำนวนตัวของอสุจิ : โดยจะแบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ จำนวนสเปิร์มรวม และ ปริมาณสเปิร์มต่อ 1 ซีซี โดยค่าปกติคือ
จำนวนสเปิร์มรวม (Total sperm number) มากกว่า 39 ล้านตัว
จำนวนสเปิร์มต่อ 1 ซีซี (Sperm concentration) มากกว่า 15 ล้านตัว
4. การเคลื่อนที่ของสเปิร์ม (Sperm motility) : สเปิร์มอาจมีทั้งกลุ่มที่เคลื่อนไหวดี เคลื่อนไหวน้อย หรือไม่เคลื่อไหว โดยจะแบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ เปอร์เซ็นต์สเปิร์มที่เคลื่อนที่ได้ดี และเปอร์เซ็นต์สเปิร์มที่เคลื่อนที่ได้ทั้งหมด (ทั้งดีและไม่ดี) โดยค่าปกติคือ
เปอร์เซ็นต์สเปิร์มที่เคลื่อนที่ได้ดี (Progressive motility) มากกว่า 32%
เปอร์เซ็นต์สเปิร์มที่เคลื่อนที่ได้ทั้งหมด (Total motility) มากกว่า 40%
5. รูปร่างของสเปิร์ม (Sperm morphology): เป็นการดูรูปร่างของสเปิร์มว่าปกติหรือไม่ โดยต้องดูทั้งส่วนหัว ส่วนคอ และส่วนหาง โดยค่า โดยสเปิร์มควรมีรูปร่างปกติมากกว่า 4%
6.การมีชีวิตของสเปิร์ม (Vitality): ดูว่าในกลุ่มสเปิร์มที่ไม่เคลื่อนไหวนั้น ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ โดยค่าปกติอยู่ที่ 58%
ตารางแสดงค่าปกติในการแปลผลตรวจน้ำอสุจิ
ภาพจาก : https://www.cambridge.org
หากค่าผิดปกติหมายถึงอะไร?
หากผลตรวจสเปิร์มมีความผิดปกติ จะส่งผลให้โอกาสที่สเปิร์มจะเดินทางไปถึงไข่ หรือเข้าไปปฎิสนธิกับไข่ทำได้ยากขึ้น อาจส่งผลให้โอกาสมีลูกด้วยวิธีธรรมชาติประสบความสำเร็จได้ยากขึ้น ซึ่งการผิดปกติของผลตรวจสเปิร์มอาจมาได้จากหลายปัจจัยเช่น
ความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์
การติดเชื้อ
ระดับฮอร์โมนเพศผิดปกติ
ได้รับสารรังสีต่างๆ
โรคประจำตัวอื่นๆ
ซึ่งแพทย์อาจจะทำการรักษา หรือตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสมต่อไป และหากจำนวนสเปิร์มมีน้อยมาก หรือรูปร่างผิดปกติมาก อาจพิจารณาใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยเช่น การฉีดสเปิร์มเข้าไปผสมกับไข่โดยตรง หรือ Intracytoplasmic sperm injection (ICSI) เพื่อเพิ่มโอกาสการมีลูกมากขึ้น
หวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์ต่อทุกคนนะคะ อย่าลืมแชร์บทความนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ ด้วยนะคะ แล้วมาติดตามกันใหม่ในบทความต่อไปค่ะ
Tantawan Prasopa. MD (พญ. ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily
#drnoithefamily #semenanalysis #spermanalysis #ตรวจน้ำอสุจิ #ตรวจสเปิร์ม #ตรวจภาวะมีบุตรยาก #ตรวจน้ำอสุจิทำอย่างไร #อยากมีลูก #เทคนิคมีลูกง่าย #เตรียมตัวก่อนท้อง #เตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ #วางแผนก่อนท้อง #วางแผนมีลูก #อยากมีลูกทำอย่างไร #แก้ปัญหามีลูกยาก
Comentários