top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

สัญญาณว่า น้ำนมของคุณแม่เริ่มลดลง (Signs That Your Milk Supply Is Decreasing)

อัปเดตเมื่อ 11 ธ.ค. 2566

ถ้าคุณแม่อยู่ในช่วงหลังคลอดมากกว่า 6 เดือนแล้วเริ่มสังเกตว่า ปริมาณน้ำนมของคุณแม่ลดลง ไม่ต้องตกใจนะคะ เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในช่วงหลังคลอด 6 เดือนค่ะ แล้วทำไมน้ำนมของคุณแม่ลดลง แล้วมีสัญญาณอะไรบ้างที่สังเกตได้ว่าน้ำนมลดลง และจะมีวิธีรับมือเพิ่มเพิ่มปริมาณน้ำนมได้ยังไง วันนี้หมอหน่อยจะมาเล่าให้ฟังค่ะ



หมอหน่อยเองก็เป็นหนึ่งในคุณแม่ที่น้ำนมลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเดือนที่ 7 หลังคลอด คือปริมาณน้ำนมสต๊อกที่ปั๊มจากเดิม 900-1,000 ml ต่อวัน ลดเหลือเพียง 500 ml ต่อวันเท่านั้น แล้วทำไมน้ำนมถึงได้ลดลงขนาดนี้?


สาเหตุหลักๆ ที่น้ำนมของคุณแม่เริ่มลดลงคือ


1. กลับไปทำงาน : เมื่อคุณแม่กลับไปทำงาน อาจเป็นเรื่องยากที่จะสามารถปั๊มนมตรงตามตารางได้ตลอดเวลา เพราะการผลิตน้ำนม เป็นแบบ on a supply-and-demand basis คือยิ่งเอาออกมาก ยิ่งสร้างมาก พอปั๊ม หรือระบายน้ำนมได้น้อยลง โรงงานผลิตก็ย่อมผลิตในปริมาณที่น้อยลงไปด้วย


2. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลังคลอด : ในช่วงหลังคลอด การทำงานของฮอร์โมนต่างๆ จะเริ่มเปลี่ยนแปลง และมักจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนการตั้งครรภ์ในช่วงหลังสัปดาห์ ทำให้ส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนในการสร้างน้ำนมหรือ Prolactin โดยเฉพาะหากประจำเดือนกลับเข้าสู่ภาวะปกติจะพบว่ามีการลดลงของการสร้างน้ำนมอย่างชัดเจน


3. ลูกเริ่มทานอาหาร : การที่ลูกเริ่มสนใจการทานอาหาร การทานน้ำ จะให้การสนใจในการทานนมลดลง อาหาร 1 มื้อ ก็สามารถทดแทนนม 1 มื้อได้เลย เมื่อการทานอาหารมากขึ้น มื้อนมลดลง การกระตุ้นน้ำนมลดลง ก็อาจทำให้ปริมาณน้ำนมของคุณแม่ลดลงไปด้วย


4. การเจ็บป่วย หรือยาบางชนิด : หากคุณแม่เจ็บป่วย มักจะส่งผลให้ร่างกายสร้างปริมาณน้ำนมลดลง ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม ก็ส่งผลต่อการสร้างน้ำนมเช่นกัน


5. การระบายน้ำนมไม่ดี : เช่นการที่ลูกดูดไม่ถูกวิธี ดูดไม่เกลี้ยงเต้า การปั๊มนมไม่เกลี้ยงเต้า อาจส่งผลให้การระบายลดลง การสร้างน้ำนมก็ลดลงไปด้วย ในบางครั้งก็ส่งผลให้เกิดท่อนมอุดตัน และการสร้างน้ำนมก็ลดลง


สัญญาณที่บอกว่า น้ำนมปริมาณลดลง

  1. ปริมาณน้ำนมที่ได้ต่อวันลดลง กรณีที่คุณแม่เป็นคุณแม่นักปั๊มจะสามารถดูได้จากปริมาณน้ำนมที่ปั๊มในแต่ละวันว่าปริมาณเท่าเดิม หรือ ลดลงมากน้อยแค่ไหน

  2. ลูกมีสัญญาณว่าได้รับนมไม่เพียงพอ เช่น ปัสสาวะลดลง ปัสสาวะสีเหลืองเข้ม หรือสัญญาณของการขาดน้ำเช่น กระหม่อมบุ๋ม ปากแห้ง ตาโหล เป็นต้น

  3. น้ำหนักตัวของลูกไม่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามหาก ลูกของคุณแม่ยังสามารถทานนมได้อิ่ม อุจจาระ ปัสสาวะปกติดี น้ำหนักตัวขึ้นดี พัฒนาการต่างๆ ปกติ แสดงว่า น้ำนมของคุณแม่ยังเพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อย เพียงแค่ร่างกายอาจจะปรับตัวในการสร้างน้ำนม ให้เพียงพอต่อความต้องการจริงๆ ของลูกเท่านั้น


หากต้องการให้น้ำนมเพิ่มขึ้นต้องทำยังไง


หลักการในการผลิตน้ำนม คือ supply and demand rule นั่นคือ ยิ่งทำให้ร่างกายคิดว่าต้องการมากแค่ไหน ร่างกายก็จะผลิตเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น ดังนั้น หลักการการเพิ่มน้ำนม มี 2 อย่างหลักๆ คือ

  1. ระบายน้ำนมออกให้เกลี้ยงเต้า โดยในช่วงให้นม หรือปั๊มนม ควรต้องระบายน้ำนมออกให้เกลี้ยงเต้า โดยอาจใช้ทั้ง การให้ลูกดูด การปั๊มด้วยเครื่อง หรือการบีบมือ นอกจากนี้ อาจใช้การประคบร้อนก่อนปั๊ม หรือการนวดเต้านมก่อนและระหว่างให้นม เพื่อให้น้ำนมไหลออกดีขึ้น

  2. ระบายน้ำนมให้บ่อยๆ ถี่ โดยอาจต้องระบายน้ำนมออกทุก 2-4 ชั่วโมง อาจจะทำโดยการให้ลูกดูด การปั๊มนม หรือการทำ Power pumping (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง PP) ยิ่งการระบายน้ำนมออกบ่อยแค่ไหน ร่างกายก็จะยิ่งผลิตน้ำนมมากขึ้น ให้เพียงพอความต้องการที่ได้รับการกระตุ้นค่ะ

นอกจากนี้วิธีอื่นๆ ที่อาจช่วยได้คือ

  • การดื่มน้ำให้เพียงพอ 2-4 ลิตรต่อวัน โดยเน้นการทานน้ำอุ่น

  • การนอนพักผ่อนให้เพียงพอ

  • การระบายน้ำนมในช่วง ตี1-ตี 5 เนื่องจากเป็นช่วงที่ฮอร์โมนโปรแลคตินสูงที่สุดของวัน

  • การทาน lecithin เพื่อให้น้ำนมไหลดี

  • การทานอาหารเพิ่มน้ำนม

  • Lactation cookies

  • การทานวิตามินเพิ่มน้ำนม

  • ปรึกษาคลินิคนมแม่

สุดท้ายหากน้ำนมลดลงจริงและไม่เพิ่มขึ้น แต่คุณแม่ยังมีนมสต๊อกเพียงพอ และยังผลิตน้ำนมให้ลูกน้อยเพียงพอที่จะทานในแต่ละวันได้ คุณแม่อาจจะเริ่มปล่อยวางและหันมาให้ความสนใจเรื่องอื่นๆ เช่นการเลี้ยงลูกที่กำลังเติบโตให้ดีขึ้น เพราะสุดท้ายแม้ว่า จะไม่สามารถให้นมแม่ได้ นมผงก็ไม่ใช่ยาพิษค่ะ


หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับคุณแม่นะคะ






เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)


ดู 15,246 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page