top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

ความเครียดส่งผลทำให้มีลูกยากหรือไม่? (Stress and fertility)

อัปเดตเมื่อ 28 มี.ค. 2566

ท่ามกลางภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ หรือโรคระบาด แน่นอนว่าย่อมส่งผลให้เกิดความเครียดต่อคนที่กำลังเผชิญสภาวะนี้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะใครที่กำลังพยายามมีลูกและรู้สึกว่าตัวเองเครียด อาจเริ่มสงสัยว่า ความเครียดนั้นเป็นสาเหตุทำให้เรามีลูกยากรึเปล่า? แล้วเราจะสามารถจัดการกับความเครียดต่างๆ นั้นได้ยังไง? วันนี้หน่อยจะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับความเครียดกันค่ะ



เมื่อเราเผชิญภาวะที่ทำให้เกิดความเครียด (Stress) ต่อมใต้สมอง (hypothalamic-pituitary-adrenal axis (the HPA axis) จะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) และ Adenaline เพื่อทำให้เกิดปฎิกริยาตอบสนองต่อความเครียด เช่น เพิ่มระดับน้ำตาลเพื่อให้เกิดพลังงาน หรือ เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ เมื่อความเครียดลดลง ฮอร์โมนเหล่านี้ทำงานลดลง ร่างกายก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

แต่หากร่างกายเกิดความเครียดเป็นเวลานาน ( Chronic stress) ร่างกายอาจจะเสียสมดุล เนื่องการการ กระตุ้นระบบต่างๆ ที่ผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้


ความเครียดกับผู้หญิง

สำหรับความเกี่ยวข้องกับการเจริญพันธ์นั้น ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ ระหว่างความเครียด ต่อการมีบุตรยาก แต่แน่นอนว่า ถ้าร่างกายเกิดความเครียดระยะยาว ย่อมส่งผลต่อการทำงานของต่อมใต้สมอง ซึ่งมีผลต่อการหลั่งของ LH และ FSH ซึ่งอาจจะทำให้การตกไข่ผิดปกติ ดังจะสามารถสังเกตได้จากที่เมื่อเราเกิดความเครียด ประจำเดือนมักจะมีการเลื่อนหรือมาไม่สม่ำเสมอได้ ยิ่งสำหรับคู่ไหนที่พยายามมีลูกมาหลายๆเดือนแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ความเครียดก็มักจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

ความสำคัญถัดมาก็คือ เมื่อยิ่งเกิดความเครียด เราก็มีแนวโนมจะมีพฤติกรรมต่างๆที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น นอนน้อย กินของหวานๆ กินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ไม่ออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอร์ ซึ่งทั้งหมดก็จะส่งผลต่อเนื่องต่อการตกไข่ และยิ่งทำให้โอกาสมีลูกเป็นได้ยากขึ้น เป็นวงจรอยู่แบบนี้


ความเครียดกับผู้ชาย

ความเครียดส่งผลต่อภาวะสืบพันธุ์ของฝ่ายชายอย่างชัดเจน มีงานวิจับแบบ meta-analysis โดยศึกษาชายทั้งหมดเกือบ 30,000 คน ความเครียดส่งผลให้จำนวนสเปิร์มลดลง เคลื่อนไหวได้ช้า และมีรูปร่างผิดปกติ นอกจากนี้ความเครียดส่งผลให้ความรู้สึกทางเพศลดลง อวัยวะเพศไม่แข็งตัว ทำให้จุดเริ่มต้นในการมีเพศสัมพันธุ์ไม่สามารถทำได้ตามปกติ

“ความเครียดในระยะยาว (Chronic stress) อาจส่งผลต่อระบบต่างๆในร่างกาย โดยเฉพาะระบบสืบพันธุ์ การจัดการกับความเครียดอย่างถูกวิธี อาจทำให้เพิ่มโอกาสมีลูกตามความตั้งใจได้ค่ะ”

การจัดการการความเครียด


1. นั่งสมาธิ

การนั่งสมาธิเป็นวิธีการที่ง่าย และไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรเลย การนั่งสมาธิทำให้เรามีสติมากขึ้นและสมองจะเริ่มจัดการกับความเครียดต่างๆได้ดี อาจลองหาเวลาว่างๆ ลองนั่งนิ่งๆ กำหนดลมหายใจเข้าออก ไม่ต้องคิดถึงอะไรเลยวันละประมาณ 5-10 นาที เมื่อสมองปลอดโปร่งเราจะสามารถจัดการความคิดต่างๆได้ง่ายขึ้น และเกิดความเครียดลดลงค่ะ


2. ออกกำลังกายเป็นประจำ

แนะนำให้ออกกำลังกายแบบไม่หนักมาก เช่นการเดินเร็วๆ การปั่นจักรยานเบาๆ หรือทำสวน ทำงานบ้าน การได้เคลื่อนไหวร่างกาย ได้ออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมน Serotonin (Feel good hormone) ซึ่งทำให้เกิดความสุข และร่างกายจะลดระดับฮอร์โมน Cortisol ซึ่งช่วยให้ความเครียดลดลงได้อีกด้วย


3. นอนหลับให้เพียงพอ

เมื่อเรานอนพักอย่างเพียงพอ ร่างกายจะเกิดการซ่อมแซมส่วนต่างๆ (reparing and restore) ทำให้สมองจัดการเรื่องราวต่างๆได้ดีขึ้น ระบบต่างของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น


4. กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ช่วยให้ร่างกายสามารถลดระดับฮอร์โมนความเครียดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นการกิน Complex carb จะช่วยกระตุ้นการหลั่งของ Serotonin อย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ Simple carb เช่นน้ำหวาน ของหวาน จะกระตุ้น Serotonin แบบรวดเร็ว (Spike) แล้วต่ำลง ดังนั้นการกิน simple carb อาจยิ่งทำให้ความเครียดมากขึ้นไปอีก สามารถอ่านในเรื่อง คาร์โบไฮเดรต ได้ค่ะ


5. พูดคุยกับคนรัก ครอบครัว หรือเพื่อนๆ

การได้พูดคุยกับคนที่รัก ครอบครัวหรือเพื่อนๆ ช่วยลดภาวะเครียดต่างๆได้ ทั้งยังอาจช่วยหลั่งฮอร์โมน Serotonin ซึ่งเป็นฮอร์โมนความสุขด้วย


6. ออกไปสัมผัสธรรมชาติ

การออกไปสัมผัสธรรมชาติ เช่นไปทะเล ไปภูเขา เป็นวิธีการลดความความเครียดอย่างหนึ่ง ธรรมชาติทำให้สมองเราปลอดโปร่ง ลดความเครียด กล้ามเนื้อต่างๆจะผ่อนคลาดมากขึ้น


หากเพื่อนๆคนไหนกำลังเผชิญกับภาวะเครียด ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากสภาพเศรษฐกิจหรือสังคม หรือ ความเครียดที่ไม่มีลูกซักที ลองทำตามวิธีที่หน่อยแนะนำดูนะคะ แต่ถ้าสุดท้ายแล้ว ยังไม่สามารถจัดการกับความเครียดนั้นได้ อาจจำเป็นต้องให้แพทย์เป็นผู้ช่วยแก้ปัญหาค่ะ อาจหาเวลาไปพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาและหาทางแก้ปัญหาความเครียดนั้นดูค่ะ เพราะความเครียดระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมของเพื่อนๆเอง นอกเหนือไปจากเรื่องของระบบสืบพันธุ์ค่ะ


แล้วมาติดตามเนื้อหาดีๆกันได้ใหม่ในตอนถัดไปนะคะ






By: Tantawan Prasopa. MD (พญ. ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily


#drnoithefamily #ความเครียดกับการมีลูก #ความเครียด #stress #ภาวะมีลูกยาก #เตรียมตัวก่อนท้อง #เตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์ #วิธีจัดการความเครียด #เทคนิคลดความเครียด #เทคนิคมีลูกง่าย #อยากมีลูก #ภาวะมีบุตรยาก



ดู 2,074 ครั้ง0 ความคิดเห็น

תגובות


bottom of page