พัฒนาการแต่ละก้าวของลูกทำให้เราตื่นเต้นเสมอนะคะ พัฒนาการเรื่องการเคลื่อนไหว ก็เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ลุ้นเหมือนกัน วันนี้หมอหน่อยมาแนะนำเทคนิคการสอนลูกคลาน ที่ใช้ได้จริง และสำเร็จได้จริงมาฝากค่ะ
การคลาน แม้จะดูเหมือนเป็นสิ่งพื้นฐานที่ลูกน้อยควรทำได้ แต่ทราบมั๊ยคะว่า การคลาน เป็นพัฒนาการหนึ่ง ที่ต้องอาศัยการทำงานหลักๆ ถึง 2 อย่างคือ
กล้ามเนื้อมัดใหญ่ต้องแข็งแรง ทั้งกล้ามเนื้อแขน กล้ามเนื้อขา กล้ามเนื้อหลัง
สมองต้องมีการเชื่อมโยงการทำงานทั้ง 2 ฝั่ง ให้มีการขยับแขนและขา คนละด้านเพื่อคลานไปข้างหน้า ซึ่งยิ่งสมองได้มีการทำงานมากขึ้นเท่าไหร่ เส้นใยประสาทในสมองของลูกก็สามารถเชื่อมโยงกันมากขึ้นเท่านั้น
โดยปกติลูกน้อยจะเริ่มพัฒนาการเรื่องการคลานช่วงอายุประมาณ 6-10 เดือน โดยการคลานของลูก อาจเริ่มตั้งแต่ ใช้เท้ายันไปข้างหน้า ใช้มือดันตัวเองโดยท้องติดพื้น หรือใช้แขนกับเข่าคลาน ซึ่งทักษะของลูกก็มักจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน
เทคนิคการสอนให้ลูกคลาน
การคลานเป็นทักษะที่ลูกน้อยมักจะทำได้เอง คุณพ่อคุณแม่ มีหน้าที่เปิดโอกาสให้ลูกได้ฝึกฝนทักษะการคลานของตนเอง จนเค้าสามารถคลานได้เองในที่สุด สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้คือ
1. ทำ Tummy Time บ่อยๆ
อยากที่หมอหน่อยเคยกล่าวไปก่อนหน้านี้ การทำ tummy time เป็นการฝึกทักษะหลายๆ อย่างของลูก ลูกจะฝึกการยกศีรษะ การใช้กล้ามเนื้อหลัง การใช้กล้ามเนื้อแขน ขา คุณพ่อคุณแม่ ควรให้ลูกได้ใช้เวลาอยู่ที่พื้น โดยการทำ Tummy time บ่อยๆ ในช่วงที่ลูกตื่น ลูกจะมีความแข็งแรงทางร่างกายมากขึ้นค่ะ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องการทำ Tummy Time)
2. ลดเวลาการให้ลูกอยู่ในรถหัดเดิน หรือ Bouncer
การที่ลูกอยู่ในรถหัดเดิน (Walker) หรือ Bouncer จะทำให้ลูกขาดเวลาในการฝึกคลาน และลดความสนใจในการคลานลง คุณพ่อคุณแม่ ควรจำกัดเวลาที่ให้ลูกอยู่ในของเหล่านั้น และใช้เวลาที่พื้นมากขึ้นค่ะ
3. กระตุ้นการอยากคลานให้ลูก
เมื่อลูกคว่ำอยู่บนพื้น คุณพ่อคุณแม่อาจลองหาสิ่งของต่างๆ มากระตุ้นความสนใจ หรือทำให้ลูกอยากคว้า เช่น วางของเล่นที่ลูกชอบ ให้ห่างจากองศาการคว้า เพื่อให้ลูกพยายามขยับตัวไปหยิบ หรือการวางกระจกไว้ทางด้านหน้า เพื่อให้ลูกสนใจและอยากเข้าไปใกล้ๆ ค่ะ
4. หาพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการฝึกคลาน
สำคัญที่สุดคือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ลูก โดยพื้นที่นั้น ควรปลอดจากอันตรายที่จะเกิดขึ้น พื้นผิวของพื้น หรือเบาะควรจะเหมาะที่จะให้ลูกหัดคลาน เพื่อให้การเริ่มต้นของลูกน้อยกว่าขึ้นกว่าเดิม โดยหมอหน่อยแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่หา เบาะรองคลาน หรือ คอกกั้น ไว้เป็นพื้นที่ในการฝึกคลานให้ลูกน้อยค่ะ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องประโยชน์ของคอกกั้น)
5. แสดงการคลานให้ลูกเห็น
การทำเป็นแบบอย่าง เป็นเทคนิคการสอนลูกคลานที่ได้ผลมากอีกอย่างหนึ่ง ในตอนแรกลูกจะยังไม่รู้ว่าการคลานคืออะไร ถ้าคุณพ่อคุณแม่ หรือพี่ๆ ลองคลานให้ดู หรือพยายามคลานด้วยกัน ลูกน้อยจะจดจำ และลองทำตาม จนสามารถคลานได้สำเร็จค่ะ
หมอหน่อยเองใช้เทคนิคต่างๆ เหล่านี้กับน้องอันนา อันนาเริ่มใช้มือดันตัวเองได้ตั้งแต่ 6 เดือน และคลานได้เองตอน 8 เดือน ทำให้อันนา ได้มีโอกาสได้เปิดโลกในพื้นที่บ้านมากขึ้นค่ะ
อย่างไรก็ตาม เด็กบางคน ก็อาจข้ามการคลานไป แล้วไปฝึกยืนหรือเดินเองเลย ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใดนะคะ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนกังวลเรื่องพัฒนาการของลูกน้อย สามารถปรึกษาคุณหมอเด็กที่ดูแลอยู่ได้เลยค่ะ
หวังกว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์นะคะ แล้วมาติดตามกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD)
📌 วิตามินบำรุงก่อนท้อง/ วิตามินบำรุงครรภ์/ วิตามินบำรุงหลังคลอด/ ของใช้แม่และเด็ก/ ของเล่นเสริมพัฒนาการ
Comments