top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

รับมือกับอาการวัยทองของลูกอย่างไรดี? (Temper Tantrums)

บ้านไหนที่มีลูกน้อยวัยมากกว่า 1 ขวบ อาจจะกำลังเผชิญปัญหา Temper Tantrums หรืออาการวัยทอง ของลูก ซึ่งเป็นตามการพัฒนาการของลูก ที่ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์และการแสดงออกได้ วันนี้หมอหน่อยมีเทคนิคการรับมือกับภาวะวัยทองของลูกมาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ


อาการวัยทองหรือ Temper tantrum เป็นการแสดงอกทางอารมณ์ที่ไม่น่ารักของลูก เช่น การร้องไห้ โวยวาย กระทืบเท้า นอนดิ้น ซึ่งจริงๆ เป็นพัฒนาการตามปกติของลูกน้อย เนื่องจากสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ของลูก ยังทำงานได้ไม่ดี ทำให้ไม่สามารถแสดงออกตามความต้องการของตัวเองได้


อาการวัยทองอาจพบตั้งแต่ 12 เดือน แต่จะพบได้บ่อยในช่วง 18-24 เดือน (87%) ช่วง peak คือ 30-36 เดือน (91%) จะเริ่มลดลงหลัง 4 ขวบ


อาการของวัยทองเป็นยังไง?

  • ร้องไห้ กรีดร้อง ตะโกน

  • เตะ ถีบ ตี

  • กั้นหายใจ

  • กัดคนอื่น

  • ขว้างของ ทำลายของ

  • ตีตัวเอง

อาการเหล่านี้ มักจะเป็นมากช่วงที่ลูกเหนื่อย หิว ไม่สบาย หรือต้องการอะไรเป็นพิเศษ มักเกิดขึ้นอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง


วิธีการรับมือกับอาการวัยทองของลูกน้อย


อยากให้จำอย่างหนึ่งว่า ภาวะวัยทองของลูกเป็นพัฒนาการตามช่วงวัย ไม่ได้เป็นนิสัย หรือ มีความผิดปกติอะไร การรับมือกับลูกเมื่อมีอาการเหล่านี้ไม่มีแนวทางตายตัว ต้องปรับตามสถานการณ์และตามลักษณะนิสัยของลูกน้อยค่ะ


1. ทำให้ให้สงบ (stay calm)


อันดับแรก พ่อแม่ หรือคนเลี้ยง ต้องทำใจให้สงบ ใจเย็นๆ หายใจเข้าออก อย่าให้อารมณ์วัยทองของลูก มารบกวนความสนใจที่เรามี เช่น การขับรถ หรือการทำงาน รอให้อารมณ์ลูกเย็นลูก เราถึงเริ่มพูดเหตุผลกับลูกน้อยอีกครั้ง


2. ช่วงที่ลูกอาละวาดหนักๆ ให้ทำตัวปกติ


บางครั้งลูกจะแสดงการอาละวาด เมื่อต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ให้นิ่งๆ ไว้ ไม่ทำตามความต้องการหากไม่มีเหตุผล เพื่อให้ลูกรู้ว่า การทำแบบนี้ ไม่ได้ทำให้ลูกได้สิ่งที่ต้องการเสมอไป รอให้ลูกอารมณ์เย็นลง แล้วเริ่มพูดคุยกับลูกอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ถ้าการอาละวาดนั้น ทำให้คนอื่นเดือนร้อน เช่นการตีคนอื่น หรือการทำลายข้าวของ ให้พาลูกออกจากตรงนั้น หรือเอาของที่อาจเป็นอันตรายออกไป และบอกลูกว่า สิ่งที่ลูกทำเป็นสิ่งที่รับไม่ได้


3. หากิจกรรมดึงความสนใจ


บางครั้งการหาอะไรดึงความสนใจ เช่น ของเล่น กิจกรรม หรืออาหาร ที่อาจทำให้ลูกอารมณ์ดี หรือเป็นสิ่งที่ลูกชอบ อาจจะสามารถช่วยดึงความสนใจ เพื่อให้อาการ Tantrum นั้นดีขึ้นได้


4. ช่วยลูกโดยการบอกว่าอารมณ์ความรู้สึกของลูกเป็นอะไร


บางครั้งลูกอาจหงุดหงิด หิว หรือง่วง แต่ไม่รู้ว่าอาการที่เป็นคืออะไร ไม่รู้จะต้องแสดงยังไง หรือพูดยังไง เรามีหน้าที่ในการช่วยบอกว่าตอนนี้ ความรู้สึกที่ลูกเป็นคืออะไร เช่น ตอนนี้หนูหงุดหงิดอยู่ เพราะอะไร ต้องทำยังไงต่อ หรือตอนนี้หนูหิวอยู่นะคะ ต้องทำยังไงต่อ การทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะช่วยให้ลูกสามารถเข้าใจสิ่งที่ตัวเองเป็นและสามารถรับมือได้ดีมากขึ้น


5. กอดลูกเพื่อให้ลูกรู้สึกสบายใจ หรือสงบลง


บางครั้งลูกอาจต้องการคนช่วย comfort เค้า การกอดลูกระหว่างรอให้ลูกสงบอาจช่วยได้ เราสามารถกอดลูกและช่วยบอกให้ลูกเข้าใจในอารมณ์ของตัวเองได้


6. ทำ time out


การทำ time out คือการพาลูกออกจากสถานที่นั้นๆ ไปในที่สงบๆ ให้ลูกสงบอารมณ์ของตนเอง ให้เวลาลูกอยู่ที่ตรงนั้น 1-3 นาที ส่วนใหญ่ให้ 1 นาทีต่ออายุ 1 ขวบ หลังจากลูกหมดเวลา ให้ค่อยๆ คุยกับลูกด้วยเหตุผลอีกครั้ง (เดี๋ยวหมอหน่อยมาเล่าเรื่อง time out อีกครั้งนะคะ)


หลังจากอาการ Tantrum ดีขึ้นควรทำยังยังไง


  • ชื่นชมเมื่อลูกทำสิ่งที่ดี

พยายามกระตุ้นพฤติกรรมที่ดีของลูก โดยการชื่นชมบ่อยๆ ให้ลูกรู้ว่าพฤติกรรมไหนควรทำ หรือไม่ควรทำ และกระตุ้นการทำพฤติกรรมดีๆ มากกว่าการแสดงอาการไม่น่ารัก

  • กระดานพฤติกรรมดี

อาจทำชาร์ตเมื่อลูกทำกิจกรรมดีๆ และให้รางวัลตอบแทน เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน เข้าห้องน้ำเอง เพื่อสะสมพฤติกรรมดีๆ ของลูก ทำให้ลูกอยากทำมากขึ้น

  • ทำให้ลูกรู้ว่าเรายังรักเค้า

บางครั้งพ่อแม่อาจให้น้ำเสียงหรือคำพูดที่อาจทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี ในช่วงลูกอารมณ์ปกติ ควรแสดงหรือพูกให้เค้าได้รู้ว่า สิ่งที่เราทำเพราะเรารักเค้า


บทความหน้ามาติดตามว่า เราจะป้องกันการเกิดอาการวัยทองของลูกอย่างไร? และเมื่อไหร่ต้องกังวลค่ะ


เขียนโดย

พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ (Tantawan Jomkwanjai.MD)





















ดู 221 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page