ช่วง 2 สัปดาห์รอคอยคือช่วงหลังไข่ตกก่อนมีประจำเดือนรอบถัดไป เป็นช่วงที่ทุกคนจะลุ้นสุดๆ เนื่องจากเราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า ไข่กับสเปิร์มจะปฎิสนธิกันหรือไม่ และตัวอ่อนจะสามารถฝังตัวได้หรือไม่? แม้ว่าในช่วง 2 สัปดาห์รอคอยนี้จะไม่สามารถทำอะไรได้มาก แต่มี 4 สิ่งที่เราสามารถเลี่ยง เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวอ่านฝังตัวสำเร็จได้ 4 อย่างนั้นมีอะไรบ้าง ไปติดตามกันค่ะ
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วง 2 สัปดาห์รอคอย
1. ยากลุ่มต้านการอักเสบ (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs; NSIADS)
ยากลุ่มต้านการอักเสบ หรือยาแก้ปวด ที่เรารู้จักกัน เช่น
- Ibuprofen
- Aspirin
- Celecoxib (Celebrex)
- Diclofenac
- Indomethacin (Indocin)
โดยยาเหล่านี้ออกฤทธิ์หลักๆ โดยการลดการทำงานของ โพสตาแกนดิน (Prostaglandin) จึงสามารถลดการอักเสบและอาการปวดได้ แต่ในกระบวนการตกไข่ และ การฝังตัวของตัวอ่อน ต้องใช้ Prostaglandin ในการทำงานเพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวที่ผนังมดลูกได้สำเร็จ ดังนั้น ในช่วง 2 สัปดาห์รอคอยนี้ ควรงดการทานยากลุ่ม NSIADS นี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการล้มเหลวของการฝังตัวของตัวอ่อน โดยอาจทานยาพาราเซตามอล หรือ กลุ่ม อะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) ทดแทนเวลาปวด (1)
2, การออกกำลังกายหนักๆ (Vigorous exercise)
การออกกำลังที่หนักเกินไปอาจส่งผลในช่วง 2 สัปดาห์รอคอย เนื่องจากมีผลต่อการทำงานของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรล (Progesterone) ที่ส่งผลถึงการสร้างผนังของมดลูก สำหรับการฝังตัวของตัวอ่อน อาจส่งผลให้ระยะ Luteal phase สั้นลง ทำให้ผนังมดลูกอาจจะไม่พร้อมในการฝังตัวของตัวอ่อน นอกจากนี้การออกกำลังกายหนักๆ อาจส่งผลในร่างกายเกิดภาวะเครียด ร่างกายคิดว่าตอนนี้อยู่ในภาวะอันตราย ไม่เหมาะให้ตัวอ่อนเติบโต และอาจส่งผลให้อาจเกิดความล้มเหลวในการฝังตัวของตัวอ่อนได้
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 สัปดาห์รอคอยนี้ ยังสามารถออกกำลังเบาๆ ได้ เช่น การเดิน การเล่นโยคะ เป็นต้น
3. การดื่มกาแฟมากๆ (Heavy caffeine intake)
มีการศึกษาพบความสัมพันธ์ของการบริโภคอาหารที่มีคาเฟอีน มากกว่า 500 มิลลิกรัมต่อวัน กับการเพิ่มความเสี่ยงของการล้มเหลวของการฝังตัวของตัวอ่อน และเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะแท้งในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาในหนู (2) พบว่าการบริโภคคาเฟอีนที่มากขึ้น สัมพันธ์กับความล้มเหลวของการฝังตัวของตัวอ่อนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นในช่วง 2 สัปดาห์รอคอยนี้ ควรลดปริมาณการบริโภคคาเฟอีน หรือจำกัดบริมาณคาเฟอีนไม่ให้เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน (อ่านเพิ่มเติมเรื่องกาแฟกับการตั้งครรภ์)
4. ทานสมุนไพรต่างๆ (Avoid medicinal herb)
หลีกเลี่ยงการทานยาสมุนไพร ยาปรับฮอร์โมน หรือยาลูกกลอนต่างๆ ยกเว้นมีการยืนยันว่าสมุนไพรนั้นมีความปลอดภัยจริง เนื่องจากยาสมุนไพรบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดการบีบตัวของมดลูก หรือทำให้ผนังมดลูกลอกตัว หรือ ทำให้การทำงานของฮอร์โมนเพศผิดปกติได้
นี่คือ 4 อย่างที่คุณควรหลีกเลี่ยงในช่วง 2 สัปดาห์รอคอยของคุณ
สิ่งที่คุณยังสามารถทำได้ในช่วง 2 สัปดาห์รอคอย
1. มีเพศสัมพันธ์ ไม่มีการศึกษาชัดเจน เรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 2 สัปดาห์รอคอย ว่าไปลดโอกาสการฝังตัวของตัวอ่อน แม้ว่าในช่วงที่ฝ่ายหญิงถึงจุดสุดยอดจะมีการบีบรัดของมดลูกมากขึ้น แต่ก็ไม่เป็นข้อห้ามอย่างชัดเจน
2. แช่น้ำอุ่น หรือเข้าซาวด์น้า ไม่มีข้อห้ามชัดเจนในเรื่องของการแช่น้ำร้อน ในช่วงรอ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรทำให้ร่างกายร้อนจนเกินไปในช่วง 2 สัปดาห์รอคอยค่ะ
3. เดินขึ้นลงบันได ในช่วง 2 สัปดาห์รอคอย คุณยังสามารถเดินขึ้น-ลง บันได้ได้ปกติ ไม่มีผลต่อการฝังตัวของตัวอ่อน
ในช่วง 2 สัปดาห์รอคอยนี้ เป็นช่วงที่เราสามารถทำงานและกิจกรรมต่างๆได้ปกติ ที่สำคัญไม่ควรเครียดจนเกินไป อาจหากิจกรรมลดความเครียด เพื่อให้เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว เช่น การออกไปเที่ยวธรรมชาติ ดูหนัง ฟังเพลง หรือใช้เวลาร่วมกันกับคนรักให้มากที่สุดค่ะ หมอหน่อยขอเป็นกำลังให้ทุกๆคู่ มีข่าวดีไวๆด้วยนะคะ
Tantawan Prasopa. MD (พญ.ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily
Comments