top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

วัคซีนที่จำเป็นก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์ (Vaccinations for pregnancy women)

อัปเดตเมื่อ 11 ธ.ค. 2566

ในช่วงหลายปีมานี้ ทั่วโลกได้ให้ความสนใจและให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อในโรคที่สามารถป้องกัน และลดความรุนแรงได้โดยวัคซีน เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) วัคซีนไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis A, B vaccine) วัคซีนคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน (Tdap vaccine) วัคซีนพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine) วัคซีนป้องกันอิสุกอิไส (Varicella vaccine) เป็นต้น ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากโรคเหล่านี้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาลดลงได้อย่างเห็นได้ชัดเจน

แต่ทราบหรือไม่ว่า วัคซีนป้องกันการติดเชื้อเหล่านี้ มีความสำคัญเป็นอย่างมากในหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพของมารดา มีผลต่อความแข็งแรงของทารกในครรภ์ รวมถึงอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวของทารกหลังคลอดอีกด้วย แล้ววัคซีนไหนบ้างที่หญิงวัยเจริญพันธ์ุ หญิงที่กำลังวางแผนเพื่อตั้งครรภ์ หรือแม้แต่หญิงที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ ควรให้ความสนใจ และให้ความสำคัญ หน่อยก็เคยสงสัยในเรื่องนี้ หลังจากศึกษามาจากหลายงานวิจัย วันนี้หน่อยมีข้อมูลนำมาสรุปให้ทุกคนเข้าใจง่ายๆค่ะ


วัคซีนที่ควรได้รับขณะตั้งครรภ์ (Vaccines recommended for pregnancy woman)


1. วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza Vaccine)

ไข้หวัดใหญ่ เป็น RNA virus มีสายพันธุ์ A และ B ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคทางเดินหายใจส่วนบน โรคปอดอักเสบ อาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ในแต่ละปีจะมีหญิงตั้งครรภ์ถึง 20% มีอาการทางระบบทางเดินหายใจส่วนบน และมีถึง 10% ที่ตรวจพบไข้หวัดใหญ่ โดยพบว่าอาการของไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์จะมีอาการที่รุนแรงขึ้น และมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นถ้าเทียบกับคนทั่วไป นอกจากนี้ยังพบภาวะแท้งบุตร ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ทารกคลอดก่อนกำหนด หรือทารกน้ำหนักน้อย จากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ จากงานวิจัยพบว่าการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์ ช่วงลดอัตราการนอนโรงพยาบาลของมารดาได้มากกว่า 40% นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันไข้หวัดให้ลูกหลังคลอดในช่วง 2-6 เดือนแรกอีกด้วย ในปัจจุบัน CDC (Centers for disease control and prevention) ได้มีคำแนะนำให้มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์ทุกคน


คำแนะนำ

- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) มีความปลอดภัยและสามารถฉีดได้ในหญิงตั้งครรภ์

- สามารถฉีดได้ในทุกช่วงอายุการตั้งครรภ์ โดยในประเทศไทยแนะนำให้ฉีดหลังอายุครรภ์ 14 สัปดาห์

- แนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย (Inactived vaccine) โดยหลีกเลี่ยงชนิดเชื้อเป็น (Live Attenuated vaccine เช่น LAIV หรือ nasal spray)

- ควรมีการกระตุ้นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี แม้จะคลอดบุตรแล้วก็ตาม


2. วัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tetanus, Diphtheria, Pertussis: Tdap)


แม้ว่าในปัจจุบันในประเทศไทยจะพบโรคบาดทะยัก(Tetanus) และคอตีบ(Dephtheria) ลดลงจากการรณรงค์ในการกระตุ้นวัคซีน Td อย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับโรคไอกรน (Pretussis) กลับพบอย่างต่อเนื่องในเด็กเล็ก ส่งผลให้เด็กเล็กยังมีอัตราเสียชีวิตจากโรคไอกรนสูงทุกปี เนื่องจากในช่วง 2 เดือนแรกเด็กจะยังไม่ได้รับวัคซีนไอกรน และกว่าวัคซีนจะสูงพอเพื่อป้องกันโรคต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือน ความสำคัญของการฉีดวัคซีนไอกรนในแม่นั้น ก็เพื่อให้แม่สร้างแอนติบอดีส่งผ่านให้ลูกระหว่างที่อยู่ในครรภ์ ซึ่งจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อเนื่องให้ลูกไปถึงช่วงหลังคลอดได้ CDC (Centers for disease control and prevention) ได้มีคำแนะนำให้มีการฉีดวัคซีน Tdap ในหญิงตั้งครรภ์ทุกคน


คำแนะนำ

- วัคซีนบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) มีความปลอดภัยและสามารถฉีดได้ในหญิงตั้งครรภ์

- แนะนำให้ฉีดในช่วงตั้งครรภ์ 27-36 สัปดาห์ หรืออย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนคลอด เพื่อให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันส่งไปให้ทารกในครรภ์ได้ทันก่อนคลอด

- หากหญิงตั้งครรภ์สัมผัสโรค หรือมีการระบาดของโรค บาดทะยัก คอตีบ ไอกรน สามารถฉีดวัคซีนได้ทุกช่วงของการตั้งครรภ์

- แนะนำให้คนดูแลใกล้ชิดทารกทุกคนฉีดวัคซีน Tdap กระตุ้น 1 เข็ม (cocooning idea) เพื่อป้องกันการติดเชื้อแล้วแพร่ไปยังเด็กเล็ก

“การได้รับวัคซีนอย่างเหมาะสมระหว่างการตั้งครรภ์ ช่วยปกป้องแม่ ทารกในครรภ์ รวมถึงสุขภาพของเด็กหลังคลอดด้วย เราทุกคนควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น”

วัคซีนที่ควรได้รับก่อนหรือหลังการตั้งครรภ์ (Vaccines recommended for postpartum or childbearing age)


1. วัคซีนป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (Measles-Mumps-Rubella vaccine)

โรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน เป็นโรคติดเชื้อที่พบได้บ่อยและมีความสำคัญ วัคซีน MMR เป็นวัคซีนตัวเป็น (Live attenuated vaccine) โดยปกติจะได้รับการฉีดวัคซีนนี้ครั้งแรกในช่วงอายุ 12-15 เดือน ครั้งที่ 2 ในช่วงอายุ 4-6 ปี ความสำคัญของการฉีดวัคซีนตัวนี้คือโรคหัดเยอรมัน (Rubella) เนื่องจากหากแม่ติดเชื้อนี้ในช่วงการตั้งครรภ์โดยเฉพาะไตรมาสแรก อาจส่งผลให้ทารกมีภาวะ Congenital rubella symdrome ซึ่งเป็นภาวะความผิดปกติที่รุนแรง ดังนั้นก่อนการตั้งครรภ์ควรแน่ใจว่า มีภูมิคุ้มกันต่อ Rubella แล้วจริงๆ


คำแนะนำ

- ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนการตั้งครรภ์ว่า มีภูมิคุ้มกันต่อหัดเยอรมัน (Rubella) แล้วหรือยัง

- ถ้าไม่แน่ใจ แนะนำให้ฉีดวัคซีน MMR ก่อนตั้งครรภ์ 1 เข็ม โดยหลังฉีดวัคซีนควรคุ้มกำเนิดอย่างน้อย 4 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อไปสู้ทารกในครรภ์

- หากตั้งครรภ์แล้วแต่ยังไม่เคยฉีด สามารถฉีดได้หลังคลอดบุตร โดยวัคซีน MMR สามารถฉีดได้แม้ให้นมบุตร เพราะไม่ส่งผลอันตรายต่อทารก

- หากบังเอิญฉีดวัคซีนก่อนตั้งครรภ์น้อยกว่า 4 สัปดาห์ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อติดตามทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด


1. วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella vaccine)

ไข้อิสุกอิใส เป็นการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อนี้โดยเฉพาะในช่วง 13-20 สัปดาห์ อาจทำให้ทารกในครรภ์เกิดภาวะ Cogenital varicella symdrome ซึ่งเป็นภาวะผิดปกติที่รุนแรง ดังนั้นก่อนการตั้งครรภ์ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีภูมิคุ้มกันต่อ Varicella แล้ว อาจดูจากประวัติการเกิดโรค ประวัติการฉีดวัคซีน หรือ เจาะดูระดับภูมิคุ้มกัน


คำแนะนำ

- ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนการตั้งครรภ์ว่า มีภูมิคุ้มกันต่ออีสุกอีใส (Varicella) แล้วหรือยัง

- ถ้าไม่แน่ใจ แนะนำให้ฉีดวัคซีน 2 เข็ม ก่อนการตั้งครรภ์ โดยเข็มแรกและเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 4-8 สัปดาห์ ควรคุมกำเนิดหลังฉีดวัคซีน อย่างน้อย 4 สัปดาห์

- สามารถฉีดวัคซีนอีสุกอีใสได้หลังคลอด โดยฉีด 2 เข็มเช่นเดียวกัน


นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนอื่นๆ ที่เป็นทางเลือกเพิ่มเติม ตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น วัคซีนไวรัสตับอักเสบ เอ และ บี (Hepatitis A vaccine, Hepatitis B vaccine) วัคซีนมะเร็งปากมกลูก (HPV vaccine) วัคซีนพิษสุนัขบ้า (Rabies vaccine) เป็นต้น เพื่อนๆสามารถสอบถามเพิ่มเติมกับแพทย์ใกล้บ้าน หรือ สอบถามเข้ามาที่หน่อยก็ได้นะคะ


ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจเรื่องของวัคซีน โดยเฉพาะในคนท้องมักจะมีความกังวลเกี่ยวกับวัคซีนค่อนข้างมาก ซึ่งจริงๆแล้ว การฉีดวัคซีนจะช่วงป้องกันการติดเชื้อในโรคที่ป้องกันได้ เพื่อให้ทั้งตัวคุณแม่ และลูกน้อยในครรภ์ปลอดภัย หากเพื่อนๆ มีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวการฉีดวัคซีน ก่อน หรือ หลัง ตั้งครรภ์ สามารถสอบถามแพทย์ใกล้บ้าน หรือถามมาที่หน่อยได้ โดยสามารถทิ้งคำถามและแชร์ข้อมูลได้ใน Forum หรือ Facebook ได้เลยนะคะ แล้วพบกันใหม่ค่ะ


📌 วิตามินบำรุงก่อนท้อง/ วิตามินบำรุงครรภ์/ วิตามินบำรุงหลังคลอด/ ของใช้แม่และเด็ก/ ของเล่นเสริมพัฒนาการ







#วัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ #วัคซีน #วัคซีนที่ควรฉีดในหญิงตั้งครรภ์ #วัคซีนในผู้ใหญ่ #ความรู้คุณแม่มือใหม่ #ความรู้เกี่ยวกับวัคซีน #คนท้อง #สิ่งที่คนท้องควรรู้ #ฝากครรภ#เตรียมตัวก่อนท้อง #เตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์


By. Tantawan Prasopa. MD (พญ.ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily


ดู 1,415 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page