top of page
รูปภาพนักเขียนdrnoithefamily

เลือดออกทางช่องคลอดในไตรมาส 2 และ 3 เกิดจากอะไรได้บ้าง? (What Causes bleeding in 2 and 3 trimester?)

อัปเดตเมื่อ 9 ธ.ค. 2566

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 เป็นช่วงที่โอกาสแท้งลดลงมากแล้ว ดังนั้น การที่มีเลือดออกในช่วงนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกว่าการมีเลือดออกในไตรมาสแรกด้วยซ้ำ วันนี้ไปดูกันว่า ถ้ามีเลือดออกในช่วงไตรมาส 2 และ 3 หรือมากกว่า 14 สัปดาห์ขึ้นไป เกิดจากสาเหตุไหนได้บ้างค่ะ


ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ต้องให้ความสำคัญ และต้องได้รับการตรวจวินิจฉัย สาเหตุของการที่มีเลือดออกในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ที่พบได้บ่อยคือ


1.รกเกาะต่ำ (Placenta previa)


รกเกาะต่ำ หมายถึง รกเกาะบริเวณส่วนล่างของโพรงมดลูก ตำแหน่งที่ใกล้หรือปิดปากมดลูก เป็นสาเหตุหลักของการมีเลือดออกในไตรมาสหลังของการตั้งครรภ์ โดยมีอุบัติการณ์ประมาณ 1 ต่อ 200-250 การตั้งครรภ์ และมีอันตรายต่อทั้งมารดาและทารก จำแนกความรุนแรงของรกเกาะต่ำออกได้ 4 ระดับ ดังนี้

  • รกเกาะส่วนล่างของมดลูก (Low lying placenta) หมายถึง ขอบรกอยู่ห่างจากปากมดลูกด้านในน้อยกว่า 2 เซนติเมตร

  • รกเกาะต่ำชนิดเกาะขอบ (Marginal previa) หมายถึง ขอบรกอยู่ชิดกับขอบของปากมดลูกด้านใน แต่ไม่คลุมปากมดลูก

  • รกเกาะต่ำชนิดสมบูรณ์ (Complete previa) หมายถึง รกเกาะคลุมปากมดลูกด้านในทั้งหมด

  • รกเกาะต่ำชนิดบางส่วน (Partial previa) หมายถึง รกเกาะคลุมปากมดลูกด้านในเพียงบางส่วน มักจะใช้ในการวินิจฉัยเมื่อมีการเปิดของปาก


2.สายสะดือเกาะที่เยื่อหุ้มเด็กโดยผ่านปากมดลูกด้านใน (Vasa previa)


สายสะดือเกาะที่เยื่อหุ้มเด็กโดยผ่านปากมดลูกด้านในเป็นภาวะที่มีเส้นเลือดทอดผ่านถุงน้ำคร่ำโดยไม่มีรกหรือ Wharton's jelly ปกคลุม อยู่ต่ำกว่าส่วนนำของทารกและใกล้กับปากมดลูกด้านใน ถ้าเกิดมีการแตกของถุงน้ำคร่ำจะทำให้เกิดการฉีกขาดของเส้นเลือดทำให้ทารกเสียเลือดจนถึงแก่ชีวิตได้ การวินิจฉัยภาวะ vasa previa ให้ได้ก่อนคลอดสามารถทำได้ด้วยการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง


3. รกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental abruption)


รกลอกตัวก่อนกำหนดเป็นภาวะที่มีการลอกตัวของรกในตำแหน่งปกติก่อนทารกคลอด ทำให้มีเลือดออกในชั้นใต้รก โดยออกมาจากเส้นเลือด Spiral arteries ซึ่งอาจจะมีเลือดออกทางช่องคลอด หรือคั่งสะสมอยู่หลังรกหรือเยื่อหุ้มเด็ก

การวินิจฉัยอาศัยอาการและอาการแสดงทางคลินิกคือเลือดออกทางช่องคลอด มดลูกหดรัดตัวและกดเจ็บ แต่มีประมาณร้อยละ 10 จะไม่มีเลือดออกทางช่องคลอด เป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาฉุกเฉิน


4. เลือดออกบริเวณขอบรก (Marginal sinus separation)


เลือดที่ออกบริเวณขอบรกเชื่อว่ามาจากเส้นเลือดดำที่ขอบรก อาจจะเห็นเป็นก้อนเลือดที่ขอบรก ก้อนเลือดสามารถแผ่ขยายออกห่างจากรกโดยแทรกไปในชั้นใต้ Chorion ซึ่งมีความต้านทานต่ำ เลือดที่ออกในลักษณะนี้มีอันตรายน้อยกว่าเลือดที่ออกหลังรกเพราะรบกวนการทำงานของรกไม่มาก


5. เข้าสู่ภาวะเจ็บครรภ์คลอด(Premature labor)


กรณีมีมูกเลือด หรือมีน้ำเดิน ร่วมกับมีการหดรัดตัวของมดลูกอย่างสม่ำเสมอ 4 ครั้งใน 20 นาที หรือ 8 ครั้งใน 1 ชั่วโมง ร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงปากมดลูก โดยมีการเพิ่มขยายปากมดลูกมากกว่า 1 เซนติเมตร และมีความบางตัวตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป อาจเข้าสู่ภาวะคลอดค่ะ



เมื่อไหร่ควรปรึกษาแพทย์


การมีเลือดออกในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 เป็นภาวะผิดปกติที่ต้องได้รับการตรวจวิฉิจและดูแล ดังนั้นหากแม่ๆ มีเลือดออกในช่วงนี้ ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันทีค่ะ


หวังว่าแม่ๆ ทุกคนจะมีสุขภาพที่แข็งแรงนะคะ แล้วมาติดตามกันได้ใหม่ในบทความหน้าค่ะ


เขียนโดย


พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai. MD) Dr. Noi The Family


#เลือดออกตอนท้อง #เลือดออกทางช่องคลอดตอนท้อง #เลือดสีน้ำตาลทางช่องคลอดตอนท้อง












ดู 5,076 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page