ในช่วงตั้งท้อง คุณแม่มักจะมีอาการเจ็บป่วย หรือ การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายได้ง่าย หลายครั้งที่ไม่สบาย แต่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถทานยาชนิดไหนได้บ้าง ยาชนิดไหนปลอดภัยในคนท้อง? วันนี้หมอหน่อยจะมาในข้อมูลเกี่ยวกับยา ที่คุณแม่สามารถใช้ได้ในช่วงตั้งท้องค่ะ
ช่วงที่คุณแม่ตั้งท้องอยู่และมีอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ บางครั้งก็อยากจะลองหายาบางชนิดที่ปลอดภัยทานเองเพื่อลดการไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แต่คุณแม่ต้องเข้าใจความปลอดภัยของยาแต่ละชนิด เนื่องจาก ยาบางตัวสามารถทานได้อย่างปลอดภัยช่วงท้อง และยาบางชนิดก็ไม่ปลอดภัยในช่วงตั้งท้องเช่นกัน
โดย Food and Drug Administration (FDA) ของอเมริกา ได้จัดกลุ่มยาในคนท้องออกเป็น 5 หมวด คือ A, B, C, D และ X (ตามตารางที่แสดง) โดยยาที่อยู่ในกลุ่ม A, B สามารถใช้ในคนท้องอย่างปลอดภัย ในขณะที่ยาในกลุ่ม C ควรระมัดระวังในการใช้ และหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่ม D และ X
ยากลุ่มแก้ปวด
Acetaminophen (category B) หรือ ยาพาราเซตามอล เช่น ซาร่า ไทลีนอล เป็นยาที่ปลอดภัยในคนท้อง แต่ควรใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น เนื่องจากมีการศึกษาพบว่า ยากลุ่ม acetaminophen เกี่ยวข้องกับการสร้างสมองของทารก เมื่อใช้ปริมาณที่มากเกินไป อาจส่งผลต่อการพัฒนาทางสมองของทารกได้
ส่วนยาในกลุ่ม nonsteroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) ควรใช้ด้วยความระมัดระวังดังนี้
ibuprofen ใช้ได้ในไตรมาส 1-2 เลี่ยงการใช้ในไตรมาส 3
ketoprofen ใช้ได้ในไตรมาส 1-2 เลี่ยงการใช้ในไตรมาส 3
naproxen ใช้ได้ในไตรมาส 1-2 เลี่ยงการใช้ในไตรมาส 3
ยาแก้ไข้หวัด
จริงๆ แล้วยากลุ่มแก้หวัดยังไม่มีการศึกษาเรื่องความปลอดภัยมากนัก แพทย์มักแนะนำให้หลีกเลี่ยงการทานยากลุ่มนี้หากอายุครรภ์ยังไม่ถึง 12 สัปดาห์ เพื่อลดโอกาสที่ทารกจะมีความผิดปกติ ยาที่สามารถทานได้หลังจากนั้น เพื่อลดอาการไข้หวัดคือ
Chlorpheniramine (category B) แก้แพ้
Diphenhydramine (Benadryl) (category B) แก้แพ้
Pseudoephedrine (category B) ลดน้ำมูก แต่ไม่ควรใช้ในคนที่มีความดันโลหิตสูง
Dextromethorphan (category C) แก้ไอ
อย่างไรก็ตาม ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งมักหายได้เอง แพทย์จึงมักแนะนำให้ดูแลร่างกาย เช่น
นอนพักให้เพียงพอ
ดื่มน้ำมากๆ
ล้างจมูกถ้ามีน้ำมูก
อาจใช้ Vicks VapoRub ทาบริเวณหน้าอกได้
อย่าลืมฉีดวัคซีน "ไข้หวัดใหญ่" เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค ในช่วงหลัง 14 สัปดาห์เป็นต้นไป (อ่านเพิ่มเติมเรื่องวัคซีน)
อาการท้องผูก
อาการท้องผูกเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนท้อง และสร้างความไม่สบายให้คุณแม่เป็นอย่างมาก ในกลุ่มยาที่ช่วยในอุจจาระนิ่ม เช่น Mucilin ค่อนข้างปลอดภัยในคนท้อง นอกจากนี้ยา Senokot, Dulcolax หรือ Milk of magnesia (MOM) ก็อาจใช้ได้ในคนท้อง แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชก่อนเสมอ
การดูแลร่างกายเพื่อลดอาการท้องผูก เป็นสิ่งที่ควรทำมากกว่า เช่น
การดื่มน้ำมากๆ น้ำลูกพรุนเป็นตัวช่วยเรื่องการขับถ่ายที่ดี
ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น
ทานอาหารที่มีไฟเบอร์เยอะมากขึ้น
อาการกรดไหลย้อน
อาการกรดไหลย้อน (GERD) เป็นอาการที่พบได้บ่อยในช่วงตั้งท้อง เนื่องจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ทำให้เกิดการคลายที่หูรูดหลอดอาหาร ทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อนได้ง่าย และมักจะเป็นมากขึ้นในไตรมาสหลังๆ เนื่องจากมดลูกขยายตัวมากขึ้น พื้นที่กระเพาะอาหารลดลง ยาที่สามารถใช้เพื่อลดอาการกรดไหลย้อน ที่คนท้องสามารถทานได้คือ
aluminum hydroxide-magnesium hydroxide (แอนตาซิล เจล; category B)
simethicone (Air-x; category C)
calcium carbonate (Gaviscon; category C)
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม มีความสำคัญในการลดอาการกรดไหลย้อนได้ คือ
กินมื้อเล็กๆ แต่กินบ่อยๆ
ลดอาการรสจัด หรือ อาการที่กระตุ้นอาการกรดไหลย้อน
ไม่นอนหลังทานอาหารทันที ควรรอ 2-3 ชั่วโมงก่อนการนอนราบ
ใส่เสื้อผ้าสบายๆ ไม่กดบริเวณท้อง
อาการคลื่นไส้อาเจียน
อาการแพ้ท้อง หรือ Morning sickness เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีอาการคลื่นไส้อาเจียน โดยปกติอาจไม่จำเป็นต้องอ่านยา (อ่านเพิ่มเติมเรื่องอาการแพ้ท้อง) แต่หากมีอาการมาก ยาที่สามารถใช้ได้เพื่อลดอาการคลื่นไส้อาเจียนและอาการแพ้ท้องคือ
vitamin B-6 ทาน 25 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวัน
Dimenhydrinate (Dramamine; category B)
ondansetron (Onsia; category B)
แม้ว่ายาบางชนิด จะสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา แต่หากเป็นไปได้อยากให้แม่ๆ ปรึกษาคุณหมอที่ดูแล เพื่อขอคำแนะนำในการรักษา และการใช้ยาก่อนเสมอนะคะ เนื่องจาก หลายครั้งอาการที่เป็นอาจมาจากโรค หรือ การเจ็บป่วยอย่างอื่น ก็เป็นไปได้ค่ะ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับแม่ๆ ทุกคนนะคะ ดูแลสุขภาพค่ะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย จากเพจ Dr. noi the family (Tantawan Jomkwanjai.MD)
留言