ในช่วงที่คนติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้นทุกวัน กลุ่มเสี่ยงที่ควรระมัดระวังมากเป็นพิเศษ อีกกลุ่มหนึ่งคือ หญิงที่ตั้งครรภ์ แล้วหากคุณแม่ติดเชื้อ โควิด-19 จะมีผลต่อการตั้งครรภ์อย่างไร? และมีอะไรที่คุณแม่ควรรู้เกี่ยวกับการติดเชื้อนี้บ้าง วันนี้หมอหน่อยมีความรู้เรื่องนี้มาฝากค่ะ

โควิด-19(COVID-19) คือ เชื้อ Coronavirus ที่ทำให้เกิดอาการทางปอด ถูกพบเมื่อปลายปี 2019 ที่เมือง Wuhan ประเทศจีน ติดต่อได้ในรูปแบบ Droplet หรือ ละอองฝอย คือผ่านการไอ จาม พูดคุยทางอากาศ หรือ การสัมผัส Droplet นั้นๆ แล้วมาสัมผัสปาก จมูก ตา ทำให้ เชื้อ COVID-19 เข้าสู่ร่างกายได้
อาการที่คุณแม่ควรสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19
เชื้อโควิดจะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก โดยจะเริ่มมีอาการได้ประมาณ 2-14 วันหลังจากได้รับเชื้อ โดยเฉลี่ยจะเริ่มมีอาการประมาณ 4 วันหลังได้รับเชื้อ โดยอาการที่พบส่วนใหญ่ได้แก่
ไอ (39%)
ไข้ (40%)
เหนื่อย (19%)
ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยร่างกาย (10%)
น้ำมูก เจ็บคอ
ได้กลิ่นหรือรับรสลดลง
ท้องเสีย
หากคุณแม่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยติดเชื้อ หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยง และมีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม เพื่อรับการตรวจให้แน่ชัดค่ะ
คนท้องติดเชื้อโควิดได้ง่ายขึ้นหรือไม่?
แม้ว่าคนท้องจะมีโอกาสที่จะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจมากขึ้น จากระบบภูมิคุ้มกันที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงท้อง ซึ่งทำให้คนท้องมีโอกาสเกิดอาหารไข้หวัดใหญ่รุนแรงมากกว่าคนทั่วไป แต่ยังไม่พบข้อมูล ที่บอกว่า คนท้องจะมีโอกาสติดเชื้อได้มากกว่าคนอื่นๆ เนื่องจากพบว่าคนท้องมีอัตราการติดเชื้อ ไม่แตกต่างจากกลุ่มคนอื่นๆ แต่คนท้องจะมีโอกาสที่จะมีอาการหนักได้รวดเร็วและมากกว่าหญิงที่ไม่ตั้งท้องในช่วงวัยเดียวกัน
คนท้องหากติดโควิดจะมีอาการรุนแรงหรืออันตรายกว่าคนอื่นๆ หรือไม่?
เนื่องจากคนท้องจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายช่วงตั้งครรภ์ เช่น
การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันลดลงเพื่อไม่ให้ต่อต้านลูกน้อยในครรภ์
มีการใช้อ๊อกซิเจนในร่างกายมากขึ้น หัวใจทำงานมากขึ้น
ทำให้คนท้องจะมีอาการทางระบบทางเดินหายใจได้มากกว่าหญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ โดยคนท้องที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีโอกาส
ต้องนอน ICU มากกว่าคนทั่วไป
ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจมากกว่าคนทั่วไป
มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดมากขึ้น
เพิ่มโอกาสเสียชีวิต หรือทารกเสียชีวิตในครรภ์มากขึ้น
โดยปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้คนท้องมีอาการรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ อายุแม่ที่มากขึ้น มีโรคประจำตัวเดิม หรือทำงานในวงการแพทย์
หากติดเชื้อจะส่งผลให้ลูกติดไปด้วยหรือไม่?
หลายคนให้ความสนใจเกี่ยวการส่งผ่านเชื้อโควิดไปสู่ลูกในท้อง ซึ่งอาจส่งผ่านได้ 3 ทาง คือ ผ่านทางรก ติดช่วงคลอด หรือ ติดช่วงให้นมบุตร อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันในเรื่องนี้มากนัก และไม่พบเชื้อโควิด-19 ในน้ำคร่ำหรือน้ำนม แต่เนื่องจากเชื้อโควิดติดผ่าน Droplet จึงอาจต้องให้ความระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้ทารกติดเชื้อหลังคลอด
ในส่วนของการคลอดนั้น ไม่ได้มีคำแนะนำว่า คุณแม่ที่ติดโควิดต้องผ่าคลอดทุกราย เนื่องจากการติดเชื้อโควิดไม่ใช่ข้อบ่งชี้ที่จำเป็นต้องผ่าตัดคลอด ซึ่งการเลือกวิธีการคลอดต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยเป็นหลัก และคุณแม่ที่ติดเชื้อโควิดยังสามารถคลอดทางช่องคลอดได้ถ้าไม่มีข้อห้าม
ลูกสามารถติดโควิดช่วงให้นมได้หรือไม่?
เนื่องจากยังไม่งานวิจัยยืนยันว่ามีเชื้อโควิดสามารถส่งผ่านทางน้ำนมได้ แต่เนื่องจากเชื้อโควิดสามารถติดได้ผ่าน Droplet จึงอาจทำให้ทารกได้รับเชื้อในช่วงให้นมได้ ดังนั้น การให้นมลูกในคุณแม่ที่ติดโควิด อาจต้องปรึกษาแพทย์เรื่องการให้นมด้วยตัวเองอีกครั้งเพื่อพิจารณา หากต้องให้นมเอง แนะนำให้
สวมหน้ากากอนามัยตลอดช่วงการให้นม
ล้างมือให้ดีก่อนและหลังสัมผัสลูกน้อย
ล้างมือให้ดีก่อนและหลังการสัมผัสขวดนม หรือ เครื่องปั๊มนม
หากมีความเสี่ยงสูงอาจพิจารณาให้แม่ปั๊มนม แล้วให้ผู้ไม่ติดเชื้อให้นมลูกทางขวดนมแทนการให้นมโดยตรง
คนท้องสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้หรือไม่?
เนื่องจากคนท้องที่ติดเชื้อโควิดจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป ดังนั้น การได้รับวัคซีนป้องกันโควิด จึงสามารถช่วยลดความรุนแรง ลดอัตราการเข้าห้อง ICU ได้ โดยในปัจจุบัน กรมการแพทย์ได้แนะนำ ให้หญิงตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิดได้ทุกชนิดที่มีในประเทศไทย โดยต้องมีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์
ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการศึกษาหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับวัคซีน mRNA ประมาณ 1 แสนคน และได้ศึกษาผลข้างเคียงหลังได้วัคซีน ซึ่งพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับวัคซีน ไม่มีความผิดปกติที่แตกต่างจากหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับวัคซีน ทั้งยังพบว่า หญิงที่ได้วัคซีนชนิด mRNA สามารถสร้างภูมิคุ้มกันไปให้ลูกในท้อง ทำให้ลูกมีภูมิคุ้มกันต่อโควิดในช่วงแรกหลังคลอดอีกด้วย
หากพบว่าติดเชื้อโควิดต้องทำอย่างไร?
หากคุณแม่มีอาการที่สงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 ควรติดต่อแพทย์เพื่อรับการตรวจยืนยันทันที กรณีที่ได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล แพทย์จะให้คำแนะนำให้การดูแลและปฏิบัติตัว แต่หากคุณแม่ต้องดูแลสุขภาพที่บ้านระหว่างรอเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล คุณสามารถดูแลตัวเองได้โดย
ทานยาลดไข้กรณีมีไข้ หรือ อุณหภูมิกายมากกว่า 37.8 องศา
ดื่มน้ำให้มาก ทานอาการปรุงสุกที่มีประโยชน์
นอนพักผ่อนมากๆ
แยกตัวจากคนอื่นๆ ในครอบครัว
ห้ามกิน ฟ้าทะลายโจร
ในส่วนของข้อมูลในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ หมอจะขอมาเล่าให้ฟังใหม่ในบทความถัดไปนะคะ
หวังว่าข้อมูลของหมอในบทความนี้คงเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ทุกท่าน และขอให้คุณแม่ทุกท่านปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 และสุขภาพแข็งแรงทุกๆ คนนะคะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ หมอหน่อย (Tantawan Jomkwanjai.MD) Dr. Noi The Family
#โควิดกับคนท้อง #คนท้องติดโควิด #คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้หรือไม่ #ลูกติดโควิดจากแม่ได้หรือไม่ #อาการคนท้องติดโควิด
Comments