ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับว่าที่คุณแม่คนใหม่ด้วยนะคะ ตอนนี้ตรวจแผ่นตรวจตั้งครรภ์ขึ้น 2 ขีด (Positive) แล้ว หลายคนคงกำลังสงสัยว่า ควรทำยังไงต่อดี? มีอะไรต้องระวังเป็นพิเศษหรือไม่? ควรไปฝากท้อง หรือ ฝากครรภ์ เมื่อไหร่? แล้วต้องเตรียมตัวอย่างไรในการฝากท้องครั้งแรกบ้าง? วันนี้หมอนหน่อยมีความรู็เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นแนวทางให้แม่ๆ ทุกคนค่ะ
การฝากครรภ์คืออะไร? (What is a prenatal visit?)
การฝากท้อง เป็นการดูแลทางการแพทย์ในช่วงที่คุณตั้งครรภ์ ซึ่งจะทำตั้งแต่ช่วงแรกที่คุณตั้งครรภ์ ไปจนถึงช่วงใกล้คลอด เพื่อดูแลสุขภาพของทารกในครรภ์ และสุขภาพของแม่ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ เพื่อให้เป็นการตั้งครรภ์ที่ดำเนินไปได้ราบรื่นมากที่สุด และลดความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ในมากที่สุด
แม้ว่าท้องนี้จะไม่ใช้ท้องแรกของคุณ แต่การฝากท้องยังมีความสำคัญเสมอ เพราะการตั้งครรภ์แต่ละครั้งย่อมไม่เหมือนกัน การฝากครรภ์จึงมีความสำคัญกับคุณแม่ทุกคน
ไปฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี?
จริงๆ ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่า คุณแม่ควรไปฝากครรภ์เมื่อไหร่ คุณแม่อาจไปฝากครรภ์ทันทีหลังตรวจพบว่าตั้งครรภ์ หรือจะรออีกซักหน่อยก็ได้ แต่โดยส่วนใหญ่การฝากครรภ์ครั้งแรกจะอยู่ในช่วง 6-12 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ ถ้าคุณแม่ท่านไหนที่มีความเสี่ยง เช่นภาวะแท้งเป็นอาจิณ โรคประจำตัว อาจนัดฝากครรภ์เร็วกว่านี้ได้
ฝากครรภ์ที่ไหนดี?
เรื่องสถานพยาบาลสำหรับฝากครรภ์ก็สามารถเลือกได้จากหลายปัจจัย โดยควรเลือกฝากครรภ์ ในสถานพยาบาลที่มีความสะดวกในการเดินทาง แพทย์หรือพยาบาลฝากครรภ์มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจคุณแม่ มีอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่พร้อมในการดูแล มีมาตรฐานการบริการที่ดี ซึ่งค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ก็แตกต่างกันออกไป โดยคุณแม่สามารถโทรไปสอบถามค่าใช้จ่ายล่วงหน้า เพื่อวางแผนได้เช่นกัน
โดยส่วนใหญ่ สูติแพทย์จะทำหน้าที่หลักในการดูแลการตั้งครรภ์ เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญการดูแลแม่และเด็กเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม กรณีเป็นการตั้งครรภ์ความเสี่ยงต่ำ อาจสามารถเลือกที่จะดูแลการตั้งครรภ์กับแพทย์ทั่วไป หรือพยาบาลผดุงครรภ์ได้ หากมีข้อจำกัดเรื่องบุคลากรทางการแพทย์มาเกี่ยวข้อง
ไปฝากครรภ์ครั้งแรกแพทย์จะทำอะไรบ้าง?
การไปฝากครรภ์ครั้งแรก อาจใช้เวลานานกว่าครั้งอื่นๆ เนื่องจากคุณแม่กับแพทย์จะพบกันเป็นครั้งแรก โดยแพทย์อาจต้องทำการพูดคุย ซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ เพิ่มเติม โดยทั่วไป สิ่งที่แพทย์มักจะทำคือ
ตรวจยืนยันการตั้งครรภ์ โดยอาจตรวจปัสสาวะ หรือเจาะเลือด หรือการทำอัลตร้าซาวด์
อัลตร้าซาวด์ อาจจะเป็นการอัลตร้าซาวด์ผ่านช่องคลอด หรือผ่านทางหน้าท้องก็ได้ หลักๆ คือเผื่อดูทารก วัดขนาดอายุครรภ์ ตรวจสุขภาพทารกโดยทั่วไป เช่น การเต้นของหัวใจ เป็นต้น
คำนวณอายุครรภ์ และวันกำหนดคลอด โดยปกติ แพทย์จะใช้วันแรกของประจำเดือนครั้งล่าสุด มาคำนวณเพื่อหาอายุครรภ์ และวันกำหนดคลอด
ซักประวัติ โรคประจำตัว ประวัติในอดีต ประวัติการตั้งครรภ์ครั้งก่อนหน้า เพื่อดูว่าคุณมีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ครั้งนี้หรือไม่
ตรวจร่างกาย วัดน้ำหนัก ส่วนสูง ความดันโลหิต เพื่อใช้ในการติดตามตลอดการตั้งครรภ์ แพทย์อาจตรวจร่างกายโดยทั่วไป ตรวจภายใน หรือตรวจมะเร็งปากมดลูกให้คุณ
ตรวจเลือด แพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ ตรวจความเข้มข้นของเลือด ตรวจการติดการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ เป็นต้น
ในการฝากครรภ์ครั้งแรก ถือเป็นการทำความรู้จักกันครั้งแรกระหว่างคุณกับคุณหมอ ยกเว้นกรณีคุณเคยฝากท้องกับคุณหมอท่านนี้มาก่อน คุณหมออาจให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพโดยทั่วไป การทานอาหารและการปฏิบัติตัว อยากคุณแม่มีข้อสงสัยอะไร ควรถามแพทย์เพื่อข้อมูลที่ถูกต้อง
ในการฝากท้องครั้งนี้แพทย์อาจให้วิตามินบำรุงมาเพิ่ม เช่น กรดโฟลิค หากคุณแม่ทาน Prenatal vitamins อยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องกินโฟลิคเพิ่ม อาจแจ้งหมอเพื่อให้ทราบตอนฝากครรภ์
ต้องไปพบแพทย์บ่อยแค่ไหน?
การฝากครรภ์ในช่วงแรก แพทย์อาจนัดห่างๆ และจะถี่มากขึ้น เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น
อายุครรภ์ 1-32 สัปดาห์ พบแพทย์ทุก 4 สัปดาห์
อายุครรภ์ 32-36 สัปดาห์ พบแพทย์ทุก 2 สัปดาห์
อายุครรภ์มากกว่า 36 สัปดาห์ พบแพทย์ทุกอาทิตย์จนคลอด
ระหว่างรอไปฝากท้องต้องทำตัวอย่างไร?
เมื่อคุณตรวจเจอว่าคุณตั้งครรภ์ การปฎิบัติตัวที่แนะนำคือ
หยุดพฤติกรรมที่อาจส่งผลต่อเด็ก เช่นการดื่มเหล้า การสูบบุหรี่ หรือการใช้สารเสพติด
นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด
หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ หรือกิจกรรมผาดโผนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
หากคุณยังไม่ได้เริ่มกิน Prenatal vitamins ให้เริ่มกินทันที โดยเลือกวิตามินที่มีส่วนประกอบของกรดโฟลิค 400-800 ไมโครกรัมต่อวัน และมีส่วนผสมของ DHA 200-500 มิลลิกรัมต่อวัน
เลือกทานอาหารที่หลากหลาย ให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงของดิบ อาหารไม่สุก อาหารหมักดอง
ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
วิตามินบำรุงครรภ์ที่แนะนำ
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมนัดฝากท้องกับแพทย์ใกล้บ้าน เพื่อให้คุณหมอให้การดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไปนะคะ
แล้วมาติดตามความรู้ของคุณแม่กันใหม่ในบทความหน้าค่ะ
เขียนโดย
พญ. ทานตะวัน จอมขวัญใจ (Tantawan Jomkwanjai. MD) drnoithefamily
Comentarios