เวลาประจำเดือนขาด หรือประจำเดือนเลื่อน มักจะทำให้เกิดความหวังเล็กๆ ว่าแผ่นตรวจตั้งครรภ์จะ Positive รึเปล่า? แต่ถ้าตรวจแล้ว ยัง Negative คือยังไม่ตั้งครรภ์ จะมีเหตุผลอะไรบ้างทำให้ประจำเดือนของเราขาดหรือเลื่อน วันนี้เราจะไปทำความเข้าใจเรื่องนี้กันค่ะ
ช่วงที่ประจำเดือนของเราจะไม่สม่ำเสมอนั้น มักจะพบในช่วงแรกที่เรามีประจำเดือนเป็นช่วงที่ฮอร์โมนอาจจะทำงานไม่สม่ำเสมอ และช่วงก่อนวัยหมดประจำเดือนซึ่งประจำเดือนมักจะค่อยๆ ห่างออกและหายไปในที่สุด หากเป็นช่วงปกติของวัยเจริญพันธุ์ประจำเดือนของผู้หญิงเรามักจะอยู่ระหว่าง 21- 35 วัน หากประจำเดือนผิดปกติจากนี้อาจจะมีสาเหตุตั้งแต่ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ ไปจนถึงโรคที่คุณต้องระวัง
สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนเลื่อนหรือขาด ที่พบได้บ่อยเช่น
1.ความเครียด
ความเครียด (Stress) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดที่ส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวเนื่องกับการตกไข่ เมื่อ Cortisol หรือฮอร์โมนเครียดสูงขึ้น จะส่งผลให้การทำงานของ FSH และ LH แย่ลง หรือทำงานผิดปกติ ซึ่งอาจส่งผลให้ประจำเดือนเลื่อนหรือขาดได้ หากความเครียดส่งผลต่อรอบเดือนของคุณทำให้รอบเดือนปกติ ควรหาทางลดความเครียด ด้วยวิธีต่างๆ อ่านเพิ่มเติมเรื่องเทคนิคลดความเครียด
2. น้ำหนักที่น้อยเกินไป
หากคุณมีน้ำหนักที่น้อยเกินไป หรือมีโรคเกี่ยวกับการกินที่ผิดปกติเช่น Anorexia nervosa หรือ Bulimia หรือการลดน้ำหนักอย่างหักโหม มักจะส่งผลต่อฮอร์โมนเพศ ที่เกี่ยวข้องกับการตกไข่ อาจทำให้ประจำเดือนเลื่อนนาน หรือประจำเดือนขาดไปเลยก็ได้ หากพบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการกินควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมเพื่อทำการรักษา
3. น้ำหนักเกิน
ไม่ใช่แค่ปัญหาน้ำหนักน้อย ปัญหาน้ำหนักเกิน หรือน้ำหนักที่เพิ่มอย่างรวดเร็วก็ทำให้ประจำเดือนผิดปกติได้เช่นกัน น้ำหนักที่เหมาะสมช่วงที่คุณกำลังเตรียมตัวท้องคือ BMI 21-24 หากคุณมีน้ำหนักที่มากเกินไป ควรเริ่มควมคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่คงที่ อ่านเพิ่มเติมเรื่อง "เทคนิคลดน้ำหนัก"
4.ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบหรือ PCOS
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบหรือ PCOS เป็นภาวะที่พบได้บ่อย และไปสาเหตุสำคัญที่มักแสดงอาการด้วยประจำเดือนขาด หรือห่างมากกว่า 35 วัน เนื่องจากการที่ไข่ไม่ตก นอกจากนี้อาจมีอาการแสดงของเพศชายร่วมด้วย PCOS เป็นสาเหตุมีบุตรยากจากการที่ไข่ไม่ตก ที่พบได้บ่อยที่สุดในวัยเจริญพันธุ์ อ่านเพิ่มเติมเรื่อง "ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ"
5. ทานอาหารที่ไม่มีคุณภาพ
อาหารบางชนิดอาจส่งผลทำให้การตกไข่ผิดปกติได้ เช่นอาหารที่มีน้ำตาลสูงๆ หรือ High glycemic index อาการกลุ่ม Trans fats หรือ อาหารที่มีสาร Phytoestrogen ซึ่งอาจส่งผลให้การตกไข่ผิดปกติ ประจำเดือนเลื่อนหรือขาดได้ หากคุณอยู่ในช่วงที่กำลังพยายามมีลูกควรหลีกเลี่ยงอาหารต่างๆ เหล่านี้
อ่านเพิ่มเรื่อง "อาหารที่ควรเลี่ยงหากคุณพยายามมีลูก"
6. โรคไทรอยด์
ฮอร์โมนไทรอยด์มีความสำคัญต่อการทำงานระบบต่างๆของร่างกาย รวมถึงระบบสืบพันธ์ การทำงานของไทรอยด์ที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะสูงไป หรือต่ำไป อาจส่งผลให้ประจำเดือนผิดปกติได้ ควรได้รับการตรวจและรักษาอย่างถูกต้อง
7. ยาคุมกำเนิด
คุณอาจพบว่าประจำเดือนของคุณอาจผิดปกติในช่วงแรกที่คุณหยุดยาคุมกำเนิดได้ เนื่องจากยาคุมกำเนิดออกฤทธิ์โดนการยับยั้งไม่ให้ไข่ตก เมื่อหยุดยาในบางคนอาจมีระดับยาคงเหลืออยู่ ทำให้การตกไข่อาจยังไม่กลับมาเป็นปกติได้ ในบางคนอาจต้องรอนานถึง 6 เดือนกว่าประจำเดือนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หากเป็นยาคุมกำเนิดแบบฉีด อาจต้องรอนานกว่านั้น
8. โรคเรื้อรัง
โรคเรื้อรังบางชนิด อาจส่งผลต่อประจำเดือนของคุณ เช่นโรคเบาหวาน หรือ Celiac disease ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตกไข่ได้ ควรได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์
แพทย์จะช่วยหาสาเหตุ และช่วยคุณรักษาภาวะที่ประจำเดือนผิดปกตินี้ได้ กรณีที่คุณต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษและควรไปพบแพทย์คือ
ประจำเดือนออกมากผิดปกติ
มีไข้ร่วมด้วย
ปวดท้องน้อยมากผิดปกติ
มีอาการคลื่นไส้อาเจียนมาก
ประจำเดือนออกยาวนานมากกว่า 8 วัน
มีเลือดออกทางช่องคลอดนอกเหนือช่วงประจำเดือน
มีเลือดออกหลังเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว
โดยส่วนใหญ่หากคุณไม่ได้ความผิดปกติทางกายภาพใดๆ สาเหตุที่ประจำเดือนผิดปกติมักจะมาจากความเครียด การทำงานหนัก หรือการทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมถึงการทานวิตามินที่จำเป็นอย่างสม่ำเสมอ ก็ช่วยให้การทำงานของฮอร์โมนต่างๆ ทำงานได้ด้วยดีเช่นกัน อย่าลืมดูแลสุขภาพกันด้วยนะคะ
วิตามินบำรุงก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ : https://www.drnoithefamily.com/product-page/prenatal-vitamins
Tantawan Prasopa. MD (พญ.ทานตะวัน พระโสภา) drnoithefamily
Комментарии